เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่จังหวัดนครพนม​ ผลกระทบจากแม่น้ำโขงหนุนสูงเริ่มขยายเป็นวงกว้าง หลังจากระดับน้ำสูงเกือบ 11 เมตร โดยเช้าวันนี้วัดได้ที่ 10.77 เมตร เพิ่มขึ้น​ 17 เซนติเมตร​ ด้าน นายชัยรัตน์ ศรีโนนทอง ผอ.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 3 พร้อมด้วยนายเดช บำรุงหงษ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม พล.ต.ฉัฐชัย มีชั้นช่วง ผบ.มทบ.210 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช และสถานีวัดระดับน้ำบริเวณ ต.หนองแสง อ.เมือง จ.นครพนม

โดย สทนช.3 ได้รายงานสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง และแจ้งประกาศการเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำโขง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งปัจจุบันมีน้ำไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในอัตรา 17,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร แนวถนน ชุมชน บริเวณริมแม่น้ำโขง

นายชัยรัตน์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในภูมิภาคตั้งแต่ เลย บึงกาฬ หนองคาย ถึงนครพนม ขณะนี้มวลน้ำสะสมจากพื้นที่ตอนบนกำลังไหลลงสู่บึงกาฬ ทำให้ระดับน้ำในพื้นที่เพิ่มขึ้นประมาณ 30-40 เซนติเมตร เมื่อมวลน้ำดังกล่าวไหลลงมาถึงนครพนม คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรง เนื่องจากระดับน้ำในตอนบนเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว และยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับวิกฤติ 1.40 เมตร อีกทั้งคาดว่าระดับน้ำในนครพนมจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 40 เซนติเมตร

ทั้งนี้ นครพนมได้เตรียมการรับมือสถานการณ์และเฝ้าระวังระดับน้ำโขงล้นตลิ่ง โดยบูรณาการร่วมกับส่วนราชการ หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ ให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ ข่าวสารจากทางราชการ และแจ้งเตือนให้ประชาชนและผู้ที่อาศัยในบริเวณพื้นที่เสี่ยงริมแม่น้ำให้ทราบ และเตรียมความพร้อมจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงระมัดระวังการสัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง และให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำโขง สำหรับเกษตรกรควรป้องกันผลิตผลทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหาย

อย่างไรก็ตาม ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินอุทกภัยแล้ว 2 อำเภอ คือ อ.ศรีสงคราม จำนวน 9 ตำบล 38 หมู่บ้าน และ อ.นาทม จำนวน 3 ตำบล 31 หมู่บ้าน มีพื้นที่ทางการเกษตรถูกน้ำท่วมขัง ประมาณ 38,000 ไร่ คาดว่าได้รับความเสียหาย 31,000 ไร่ ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อน หรือต้องการความช่วยเหลือ ขอให้แจ้งขอความช่วยเหลือผ่านช่องทางทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” สายด่วนนิรภัย 1784 หรือโทรฯ แจ้งเหตุขอความช่วยเหลือที่สายด่วน ศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง.