นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ตนจะเชิญการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) มาประชุมหารือติดตามความคืบหน้าเรื่องการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ในโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ไม่อยากให้เวลาหมดไปโดยไม่เกิดประโยชน์ และต้องรอกันแบบไม่มีกำหนด ซึ่งตนไม่อยากให้รอ เพราะยิ่งรอต่อไปจะยิ่งเกิดปัญหามากกว่า ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการดำเนินโครงการด้วย

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ได้รับรายงานเบื้องต้นว่า องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 19 ก.ย. 67 เพื่อมาประเมินผลกระทบเบื้องต้นด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เชื่อมโยงกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ตนมองว่าควรต้องเดินหน้าก่อสร้างสถานีอยุธยาต่อไป แต่ต้องพยายามอธิบายให้ทางยูเนสโกเข้าใจ เพราะที่ผ่านมา รฟท. ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งข้อกฎหมายครบทั้งหมดแล้ว  

ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดี ขร. กล่าวว่า ขณะนี้ รฟท. ได้จัดส่งรายงาน HIA ฉบับปรับปรุงที่สมบูรณ์ไปยังเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกแล้ว และทราบว่าได้จัดส่งรายงาน HIA ต่อไปยังยูเนสโกแล้ว และยูเนสโกได้มอบหมายให้สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ในฐานะองค์กรที่ปรึกษาของยูเนสโกลงพื้นที่ประเมินผลกระทบเบื้องต้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 19 ก.ย. 67 ซึ่ง ขร. จะร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้สถานีอยุธยา อยู่ในสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันได้ผู้รับจ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงนามก่อสร้าง

“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า สำหรับภาพรวมการก่อสร้างโครงการรถไฟไฮสปีด เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 1.79 แสนล้าน จำนวน 14 สัญญา เป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย มีความคืบหน้าประมาณ 34.97% ล่าช้า 36.39% ตามแผนงานที่ปรับใหม่ล่าสุดจะเปิดให้บริการได้ในปี 71 แต่จากการประเมินเบื้องต้นภายหลังจากเกิดเหตุการณ์อุโมงค์คลองไผ่ถล่ม ซึ่งอยู่ในงานสัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ระยะทาง 12.2 กม. วงเงิน 4,279 ล้านบาท มีบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด เป็นผู้รับจ้าง พบว่า การเปิดให้บริการอาจต้องเลื่อนเปิดบริการหลังปี 71 เนื่องจากต้องมีการตรวจสอบ และทบทวนมาตรการความปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และสร้างความปลอดภัยในการดำเนินงานก่อสร้าง ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก

ขณะเดียวกันโครงการนี้ยังมีอีก 2 สัญญาที่ยังอยู่ระหว่างรอลงนามสัญญา และยังไม่มีกำหนดเวลาว่าจะได้ลงนามสัญญาได้เมื่อใด ได้แก่ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. รอการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เนื่องจากเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกัน และสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ชะลอลงนามสัญญากับบริษัท บุญชัยพาณิชย์(1979) จำกัด ผู้รับจ้าง โดยยังคงยืนราคาเดิม 10,325 ล้านบาท เนื่องจากยังติดต้องรอความชัดเจนเรื่องรายงาน HIA

นอกจากนี้ยังมีสัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างคันทางระดับดิน เป็นทางยกระดับ (Elevated) ในช่วงโคกกรวด-ภูเขาลาด ระยะทาง 7.85 กม. โดยขณะนี้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ได้มอบให้ รฟท. ไปปรับราคาดัชนีกลางให้เป็นปัจจุบัน และนำกลับมาเสนอที่ประชุมบอร์ด รฟท. อีกครั้งในเดือน ก.ย. 67 เบื้องต้นการปรับรูปแบบการก่อสร้างดังกล่าว วงเงินเพิ่มขึ้น 2,052 ล้านบาท จากเดิม 7,750 ล้านบาท และต้องขยายการก่อสร้างออกไปอีก 36 เดือนจากเดิมสิ้นสุดสัญญา มี.ค.68.