นายเอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจการทำตลาดของแบรนด์สินค้าพบว่า ปีนี้มีการใช้งบการตลาดเพียง 5-10% จากเมื่อ 3 ปีก่อนใช้มากกว่า 10% โดยเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหลังจากนี้ จึงอยากแนะนำให้ใช้นำข้อมูลดาต้าของลูกค้ามาใช้ประกอบการทำตลาดโดยเน้นเฉพาะคน ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น
น.ส.สาวิกา อุณหนันท์ รองประธานหลักสูตร Master in Branding and Marketing (MBM) กล่าวว่า เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว และรองรับการแข่งขันในแต่ละอุตสาหกรรม มองว่าแบรนด์สินค้าจะต้องมี 5 กลยุทธ์หลัก คือ สินค้ามึคุณภาพ เพราะผู้บริโภคยอมจ่ายแพงเพื่อคุณภาพที่ดีกว่า, มีการใช้ไปเรื่อยๆ จนเกิดความคุ้นเคย, ความแปลกใหม่ที่ต้องว้าว แบบไม่เคยมีมาก่อน, ดีต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมพิสูจน์ได้, มีอินฟลูเอนเซอร์ที่ใช้จริงเท่านั้น เพื่อให้ผู้บริโภคเชื่อและคล้อยตาม
นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังได้มีการสำรวจแบรนด์สินค้าที่ทรงพลังของผู้บริโภคชาวไทย พร้อมกับสำรวจค่านิยมและกระบวนการตัดสินใจซื้อของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 24,000 ตัวอย่าง ทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด เพื่อมอบรางวัล “The Most Powerful Brands of Thailand 2024” หรือ สุดยอดแบรนด์ทรงพลังของประเทศไทย 2024 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ทำงานด้านการตลาดในการวางกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับผู้บริโภคแต่ละช่วงวัยในบริบทของสังคมไทยได้อย่างแท้จริง โดยพบว่าปีนี้สามแม่ครัว เป็นแบรนด์อันดับ 1 ที่ชนะใจผู้บริโภคทุกช่วงอายุทั่วประเทศ
นายเอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด กล่าวว่า การจัดอันดับความแข็งแกร่งของแบรนด์ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุก 2 ปี ซึ่งในปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 7 โดยนอกจากจะมีการประกาศรางวัลแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดใน 29 กลุ่มผลิตภัณฑ์แล้ว คณะผู้วิจัยยังได้ทำการวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้แบรนด์แข็งแกร่ง เพื่อนำมาเป็นองค์ความรู้ในการกำหนดกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดอีกด้วย
การประเมินความแข็งแกร่งของแบรนด์จะพิจารณาครอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ ความตระหนักในแบรนด์ (Awareness) ความชื่นชอบในแบรนด์ (Preference) การใช้ผลิตภัณฑ์ (Usage) และภาพลักษณ์ (Image) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ความสำเร็จของแบรนด์ทั้งในแง่ Market Share, Mind Share และ Heart Share อย่างครบถ้วน
สำหรับปีนี้มีแบรนด์ที่ได้รับรางวัลทั้งหมด 29 แบรนด์ แบ่งเป็น กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคลและครัวเรือน ได้แก่ แบรนด์ลักส์, ซันซิล, บรีส, คอลเกต และนีเวีย กลุ่มยานยนต์ ได้แก่ โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้/รีโว่, โตโยต้า ยาริส และฮอนด้า กลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการด้านเทคโนโลยี ได้แก่ เอเซอร์, ซัมซุง, แกร็บฟู้ด, และเน็ตฟลิกซ์ กลุ่มอาหารและขนมขบเคี้ยว ได้แก่ มาม่า, สามแม่ครัว, โฟร์โมสต์, เลย์ และรสดี กลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ เอ็ม-150, เนสกาแฟ, ยูนิฟ และซี-วิท กลุ่มร้านอาหารและบริการทางการเงิน ได้แก่ ธ.พาณิชย์, เอไอเอ, คาเฟ่ อเมซอน, เอ็มเค และพฤกษา