เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ห้องประชุมสำนักงานกลางคริสเตียน ราชเทวี ครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายร่วมกับมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ องค์กร Protection International และมูลนิธิ forum Asia จัดงานแถลงข่าวเนื่องในวันแห่งการรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล โดยปีนี้ จัดภายใต้ชื่อ “Faces of the Victims: A Long Way to Justice” ใบหน้าของเหยื่อ: เส้นทางที่ยาวไกลสู่ความยุติธรรม เพื่อทวงถามความคืบหน้าและยื่นข้อเรียกร้องต่อการแก้ปัญหาคนหายของรัฐไทย หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เป็นเวลาปีกว่า

โดยมีนางอังคณา นีละไพจิตร สว.ในฐานะ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อดีตสมาชิกคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับ (WGEID) และภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับสูญหาย  นางชู เม็ง (Shui Meng) ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและภรรยาของสมบัด สมพอน ผู้นำภาคประชาสังคมลาวที่ถูกบังคับสูญหายในปี 2012  นางพิณนภา พฤกษาพรรณ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสตรี และภรรยาของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง พอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ  และนายสีละ จะแฮ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชนเผ่าลาหู่ และญาติของเหยื่อจากการบังคับสูญหายชาติพันธ์ลาหู่ เข้าร่วมในการแถลงข่าวครั้งนี้

นางพิณนภา กล่าวว่า  แม้จะผ่านมาปีกว่าแล้วหลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย บิลลี่ก็ยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรม ภายหลังที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. นี้ ตนได้เข้าประชุมร่วมกับหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งและได้สอบถามว่าคดีของบิลลี่สามารถใช้ พ.ร.บ. นี้มาสืบสวนหาผู้กระทำความผิดได้ด้วยหรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ตอบว่าไม่ได้เพราะคดีของบิลลี่เกิดก่อนที่จะมี พ.ร.บ. ฉบับนี้ และหากจะให้คดีของบิลลี่เข้าสู่การสอบสวนของ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะต้องมีหลักฐานใหม่ขึ้นมาพิสูจน์ ซึ่งที่ผ่านมาครอบครัวก็ได้ดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดแล้ว ไม่รู้จะหาหลักฐานใหม่อะไรมาให้เจ้าหน้าที่อีก ทั้งที่ในความเป็นจริงบิลลี่ยังเป็นบุคคลสูญหายและคดียังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์อยู่เลย คดีของบิลลี่ยังไม่สิ้นสุด พ.ร.บ. ฉบับนี้จึงควรที่จะทำหน้าที่ให้กับครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายโดยไม่มีเงื่อนไขของเวลาเข้ามาเป็นข้อจำกัดให้ครอบครัวเข้าถึงความยุติธรรม

ด้านนายสีละ กล่าวว่า  พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฉบับนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยหนึ่งในหน้าที่ของคณะกรรรมการชุดนี้คือจะต้องตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทรมาน การทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งรับและติดตามตรวจสอบข้อร้องเรียนต่างๆ ด้วย แต่ตนยังไม่เคยเห็นคณะกรรมการชุดนี้มาลงพื้นที่หรือเข้ามาสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับครอบครัวผู้สูญหายหรือติดตามแก้ไขปัญหาเลยแม้แต่ครั้งเดียว ตนอยากให้คณะกรรมการชุดนี้ทำงานเชิงรุกลงพื้นที่สอบสวนข้อเท็จจริงให้ความเป็นธรรมกับครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรมด้วย ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมามีพี่น้องชาติพันธ์ุลาหู่ถูกอุ้มหายและถูกซ้อมทรมานเป็นจำนวนมาก และที่ตนเรียกร้องความเป็นธรรมมาโดยตลอดคือกรณีของพี่น้องชาติพันธ์ุลาหู่ไม่ต่ำกว่า  20 คนที่ถูกทำให้สูญหาย และมากกว่า 50 คนที่ถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหนึ่งในนั้นมี นายจะฟะ จะแฮ หลานชายของตนรวมอยู่ด้วย

ขณะที่นางอังคณา กล่าวว่า คดีนายสมชายผ่านมากว่า 20 ปี โดยไม่มีความก้าวหน้า เพราะรัฐไม่มีเจตจำนงทางการเมืองในการเปิดเผยความจริง และนำคนผิดมาลงโทษ  แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย รวมถึงการให้สัตยาบันอนุสัญญา แต่ยังไม่เห็นความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตามหาตัวสมชาย กรรมการตาม พ.ร.บ. ที่ตั้งขึ้นก็ไม่เคยรับฟังครอบครัวทั้งที่กฎหมายระบุให้สืบสวนจนทราบที่อยู่และชะตากรรม และรู้ตัวผู้กระทำผิด ในขณะที่ครอบครัวคนหายต่างถูกคุกคามมาโดยตลอด ไม่นานนี้ขณะจัดงานรำลึก 20 ปี สมชาย นีละไพจิตร ยังมีคนอ้างเป็นเจ้าหน้าที่มาสอดแนม ตามถ่ายภาพครอบครัว ยังไม่นับรวมการด้อยค่า และคุกคามทางออนไลน์

“สมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้มหายในรัฐบาลทักษิณ ปีนี้ลูกสาวคุณทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยคุณทักษิณเองก็ยังมีบทบาททางการเมือง ก็อยากทราบว่าลูกสาวคุณทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรี จะคืนความเป็นธรรมให้ครอบครัวคนถูกอุ้มหายอย่างไร อย่างน้อยบอกความจริง และนำคนผิดมาลงโทษก็ยังดี อุ๊งอิ๊งรักพ่อแค่ไหน ลูกๆ คนหายก็รักพ่อไม่ต่างกัน ดังนั้นคืนความยุติธรรมและการเปิดเผยความจริงจึงจะเป็นการเยียวยาที่ดีที่สุดให้แก่ครอบครัว” นางอังคณากล่าว

ด้านปรานม สมวงศ์ จาก Protection International  กล่าวว่า กรณีคนหายเป็นความผิดต่อเนื่อง คดีมีอายุความต่อเนื่อง  ที่สำคัญการหาหลักฐานเพิ่มเป็นหน้าที่ของรัฐ  ดังนั้นจึงต้องเร่งคืนความยุติธรรมให้เหยื่อ พร้อมเยียวยาครอบครัวและญาติ  อย่างไรก็ตามในช่วงบ่ายวันนี้เราจะไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่องขอเรียกร้องให้เปิดเผยความจริง คืนความเป็นธรรมและชดใช้เยียวยาแก่ครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ผ่านสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  ซึ่งจดหมายนี้จะมี 7 ข้อเรียกร้องของเรา  จากนั้นในช่วงเดือน ก.ย. จะติดความคืบหน้าว่ารัฐบาลใหม่ได้นำข้อเรียกร้องนี้ไปบรรจุไว้ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาหรือไม่ และหวังว่ารัฐบาลใหม่จะคืนความยุติธรรมและทำให้ใบหน้าของผู้ที่สูญหายกลับคืนมา 

ทั้งนี้ครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายยื่น 7 ข้อเรียกร้องให้นายกฯ คนใหม่เปิดเผยความจริงคืนความเป็นธรรมและชดใช้เยียวยาให้แก่ครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ดังนี้ 1.เราเน้นย้ำสิทธิที่จะทราบความจริง เนื่องจากการบังคับบุคคลสูญหาย เป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง รัฐมีหน้าที่ต้องสืบสวนสอบสวนจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ 2.รัฐบาลต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี และมีผลบังคับใช้ ต้องมีความจริงใจในการตามหาตัวผู้สูญหาย และคืนพวกเขาสู่ครอบครัว ในการค้นหาตัวผู้สูญหายต้องเป็นไปตามหลักการชี้แนะในการค้นหาผู้สูญหาย ของคณะกรรมการสหประชาชาติ คือการหาตัวบุคคล ไม่ใช่การหาศพ หรือเพราะการค้นหาตัวบุคคล จะทำให้เราทราบเรื่องราวของผู้ถูกบังคับสูญหาย และรู้ตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริง 

3. เราขอเน้นย้ำสิ่งที่รัฐไม่อาจละเลยได้ คือ การรับประกันความปลอดภัยของครอบครัว ในกระบวนการร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรม เพราะเมื่อการบังคับสูญหายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล และมีอำนาจในหน้าที่การงาน การคุกคามต่อครอบครัวจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลากหลายรูปแบบ รัฐต้องประเมินความเสี่ยง และออกแบบการดูแลความปลอดภัยร่วมกับครอบครัว และข้อจำกัดเรื่องงบประมาณต้องไม่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการยุติการคุ้มครองอีกต่อไป 4.รัฐบาลต้องให้ครอบครัวมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยในกระบวนการหาตัวผู้สูญหาย เพื่อความโปร่งใส และยุติธรรม การตัดสิทธิของครอบครัวในการมีส่วนร่วมทำให้การค้นหาตัวผู้สูญหายไม่รอบด้าน อีกทั้งยังอาจมีการปกปิดความจริงที่เกิดขึ้น

5.ข้อเรียกร้องต่อมาตรา 13: เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยบังคับใช้มาตรา 13 อย่างเข้มงวด ป้องกันการส่งกลับ (non-refoulement) ซึ่งระบุว่าห้ามมิให้มีการส่งกลับบุคคลไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงว่าจะถูกบังคับให้สูญหายหรือถูกทรมาน 6.ที่สำคัญที่สุด คือ การขจัดทัศนคติเชิงลบต่อครอบครัว การสร้างภาพให้ผู้สูญหายเป็นคนไม่ดีทำให้ครอบครัวต้องเผชิญกับการตีตราจากสังคม ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กให้มีชีวิตอย่างหวาดกลัว และไม่มีความมั่นใจในความปลอดภัย  7.เราขอเน้นย้ำว่า เราจะไม่หยุดส่งเสียงจนกว่าความจริง และความยุติธรรมจะปรากฏ และผู้สูญหายจะกลับคืนสู่ครอบครัว.