หลังจากที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ทันทีที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ บรรดาเหล่านักร้องก็เดินสายยื่นร้อง “นายกฯ อิ๊งค์” แบบเหวี่ยงแห หวังผลฟลุกเหมือนอย่างที่อดีตเคยสำเร็จมาแล้ว อย่างกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สว.สรรหาในขณะนั้น ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 267 ประกอบ 182 วรรคสาม และมาตรา 91 กรณีการจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” และรายการ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ซึ่งคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยชี้ว่า นายสมัคร หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังคงได้รับค่าตอบแทนที่มีลักษณะต้องห้าม จึงโดนสอยตกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จากปมว่าด้วย “ลูกจ้าง ค่าตอบแทน” จากการไปจัดรายการ โทรทัศน์ “ชิมไปบ่นไป”, “ยกโขย่ง 6 โมงเช้า” ซึ่งเป็นคดีตัวอย่าง
แต่งานนี้ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ออกมาระบุว่า ได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง และองค์กรอิสระตรวจสอบกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถือหุ้นบริษัทเอกชนต่างๆ หลังได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ตามมาตรา 170(5) ประกอบมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เรื่องนี้ยังไม่มีเข้ามายังสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบ และเรื่องนี้ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. ที่จะทำการตรวจสอบหรือไม่ เช่น มีการกระทำผิดต่อตำแหน่ง ฝ่าฝืนจริยธรรม หรือครอบครองหุ้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
“ซึ่งตามขั้นตอนของกฎหมาย การเซ็นโอนหุ้นของผู้ที่ได้รับตำแหน่งทางการเมือง สามารถทำได้หลังถวายสัตย์ปฏิญาณตนภายใน 15 วันก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องโอนหุ้นก่อนได้รับการโปรดเกล้าฯ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.หุ้น ซึ่งการถือครองหุ้น หลังจากดำรงตำแหน่งแล้ว ก็ยังสามารถถือครองได้ไม่เกิน 5% ถ้าเกินจากนั้นต้องดำเนินการให้นิติบุคคลเป็นผู้จัดการ” นายนิวัติไชย กล่าว
เมื่อถามย้ำว่าดำเนินการเซ็นโอนหุ้นของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในการโอนหุ้น หากดำเนินการในช่วงนี้ ถือว่ายังอยู่ในกรอบของกฎหมายหรือไม่ นายนิวัติไชย บอกว่า อันนี้ต้องไปพิจารณา.