คปภ.โดยนายชูฉัตร ประมูลผล. เลขาธิการ พร้อม นายกัฬชัย เทพวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการออกคำสั่งทางปกครอง ภายใต้บทบาท คปภ.ณ ห้องแสงจันทร์ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพลส ที่ผ่านมา
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า “สำนักงาน คปภ. มีเป้าหมายสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมประกันภัยไทยได้เติบโต มั่นคง และยั่งยืน โดยมีภารกิจที่สำคัญ คือ การสร้างวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงด้านการประกันภัยเพื่อทำให้ประชาชน รวมถึงภาคเอกชนได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการประกันภัย และสามารถใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงอันส่งผลให้การประกันภัยกลายเป็นส่วนหนึ่ง ในการประกอบธุรกิจหรือการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเร่งพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและทัศนคติที่ดีต่อการประกันภัย
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีบริษัทประกันภัยออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยหลายประเภทเพื่อรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดด้วยกรมธรรม์ประกันภัยโควิดประเภทเจอ-จ่าย-จบ ซึ่งได้รับความนิยม โดยมียอดประกันภัยรวมกันกว่า ๔ พันล้านบาทขณะที่มียอดจ่ายเคลม ไม่ถึง ๑๐๐ ล้านบาท ต้นปี ๒๕๖๔ สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลายบริษัทประกันภัยชลอการจำหน่าย มีการปรับรูปแบบความคุ้มครอง และหลายแห่งยกเลิกผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบเจอ-จ่าย-จบ สำนักงาน คปภ. มีการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยบริษัทประกันภัยที่ได้รับผลกระทบปัญหาสภาพคล่องผ่อนคลาย ให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและดำเนินงานในช่วงวิกฤต แต่เมื่อการระบาดหนักมากขึ้นเกิดปัญหาที่มีประชาชนผู้เอาประกันภัยยื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนสูงขึ้น มีผลกระทบต่อฐานะและความมั่นคงทางการเงินและเผชิญกับภาวะวิกฤตในการบริหารจัดการบริหารความเสี่ยงที่ดี ส่งผลให้เกิดการแจ้งยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยไปยังประชาชนผู้เอาประกันภัยนับเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอันกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบประกันภัยเป็นอย่างมาก
สำนักงาน คปภ. ได้ยืนยันในหลักการ และบทบาทในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทประกันภัยบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยจำนวนมากเพื่อปกป้องผู้เอาประกันภัยกว่าหลายล้านราย ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการถูกลอยแพด้วยการถูกเลิกสัญญาอย่างไม่เป็นธรรมด้วย นายทะเบียนจึงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยพ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อออกคำสั่งนายทะเบียนที่ ๓๘/๒๕๖๔ โดยห้ามไม่ให้มีการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยโควิดมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมบรรเทาความเดือดร้อนและคุ้มครองสิทธิของประชาชนด้วยเหตุนี้ ในปี ๒๕๖๕ จึงมีบริษัทประกันภัย ๓ รายได้ยื่นฟ้องสำนักงาน คปภ. ต่อศาลปกครองกลางในประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว โดยยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงาน คปภ. กว่า ๔ หมื่นล้านบาท ทั้งที่บริษัทประกันภัยมียอดการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพียง ๓ หมื่นล้าน
ต่อมาบริษัทประกันภัยจำนวน ๒ รายถอนคำฟ้อง เหลือเพียงหนึ่งบริษัทยังคงดำเนินการ จนในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๗ ศาลฯ มีคำพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่ากรมธรรม์ดังกล่าวเป็นสัญญาสำเร็จรูปโดยมีผู้เอาประกันภัยเป็นผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมซึ่งต้องมีการตีความสัญญาไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น บริษัทประกันภัยจึงไม่สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยอ้างเหตุอื่นใดตามอำเภอใจของบริษัทได้ และศาลเห็นว่าการออกคำสั่งนายทะเบียนที่ ๓๘/๒๕๖๔ นั้น เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากเป็นการใช้บังคับกับสัญญาประกันภัยเกิดขึ้นและยังมีความคุ้มครองอยู่ในวันที่คำสั่งดังกล่าวใช้บังคับเพื่อความเป็นธรรม บรรเทาความเดือดร้อน และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและประชาชน อันเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบธุรกิจประกันภัยโดยรวม
ทั้งนี้ การจัดโครงการฯ นี้มีขึ้นเพื่อให้หน่วยงานราชการ ภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมีความตระหนักรู้ในความจำเป็นและความสำคัญของการประกันภัยซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเข้าไปรองรับกิจกรรมในทุกช่วงชีวิตของประชาชนได้เป็นการสื่อสารให้หน่วยงานได้ทราบถึงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. ในการส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสามารถปรับตัวให้ทันตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยคำนึงถึงการปกป้องและคุ้มครองสิทธิประโยชน์
ของประชาชน รวมถึงการยกระดับให้ภาคธุรกิจปฏิบัติต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชนอย่างเป็นธรรมไปพร้อมกันอันเป็นการทำให้ประชาชนได้เข้าใจ เข้าถึงเชื่อมั่นในระบบประกันภัยและเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงต่อไป”