“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ขณะนี้ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศรุ่น Kiha 40 จำนวน 11 คัน และ Kiha 48 จำนวน 9 คัน รวม 20 คัน ซึ่งเป็นขบวนรถไฟที่ JR East (East Japan Railway Company) บริษัทรถไฟในญี่ปุ่น มอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยังคงจอดอยู่ที่ย่านสถานีรถไฟแหลมฉบัง จ.ชลบุรี หลังจากถูกขนย้ายมาทางเรือจากท่าเรือนีงาตะ (Niigata) ประเทศญี่ปุ่น ถึงท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 67 ซึ่งตามร่างขอบเขตงาน (TOT) เริ่มต้น บริษัท กรีน เจเนอเรชั่น เวิลด์ไวด์ จำกัด ผู้รับจ้างขนย้าย จะต้องดำเนินการขนย้ายชุดแคร่ล้อรับน้ำหนักตู้รถไฟ (โบกี้) มาปรับขนาดความกว้างของฐานเพลาล้อจาก 1.067 เมตรเป็น 1.00 เมตร ที่โรงงานมักกะสัน  และขนส่งรถดีเซลรางปรับอากาศทั้ง 20 คันส่งมอบให้ รฟท. ณ สถานีรถไฟแหลมฉบังภายใน 90 วัน หรือประมาณสิ้นเดือน ส.ค. 67

ปัจจุบันยังไม่มีการขนย้ายโบกี้มาปรับขนาดความกว้างของฐานเพลาล้อแต่อย่างใด ขณะที่กำหนดเวลาส่งมอบรถดีเซลรางปรับอากาศทั้ง 20 คันให้ รฟท. ก็ใกล้จะครบกำหนดแล้ว ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า กระบวนการขนย้ายรถดีเซลรางปรับอากาศรุ่น Kiha 40 และ Kiha 48 ทั้ง 20 คัน จากประเทศญี่ปุ่น มายังประเทศไทย ไม่ได้ปฏิบัติตาม TOR ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งในรายละเอียดของ TOR กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องถอดโบกี้ออกจากตัวรถตั้งแต่อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะขนส่งมาท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อให้เมื่อมาถึงไทยแล้ว จะได้ขนย้ายโบกี้ลงขบวนรถไฟบรรทุกสินค้า (บขน.) เพื่อนำไปปรับขนาดล้อ และเมื่อปรับแล้วเสร็จ จะได้ขนส่งกลับมายังสถานีรถไฟแหลมฉบัง

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญา เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 67 โดยในบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญา ระบุว่า ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงฯ เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามรายละเอียดข้อเสนอของบริษัทผู้รับจ้าง ซึ่งได้ปรับทั้งในส่วนของขอบเขตงาน และรายละเอียดของงาน โดยผู้รับจ้างไม่ต้องแยกตัวรถ และโบกี้ออกจากกันตั้งแต่ที่ประเทศญี่ปุ่น เบื้องต้นทราบว่าขณะนี้รถไฟ KIHA ทั้ง 20 คัน ยังคงจอดตากแดด ตากฝน รอผู้ควบคุมงานที่เป็นวิศวกรที่ได้รับการรับรองจาก JR East มาควบคุมการถอดโบกี้จากตัวรถ ก่อนจะยกโบกี้ลงขบวนรถไฟบรรทุกสินค้า เพื่อนำไปปรับขนาดล้อต่อไป

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาดังกล่าว มีการตั้งข้อสังเกต และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาภายหลังการได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว จึงมองว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้างหรือไม่ และวงเงินที่ รฟท.ว่าจ้าง จำนวน 48.6 ล้านบาท นอกจากจะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขนย้ายจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยแล้ว ยังเป็นค่าแรงของคนงานที่ประเทศญี่ปุ่นในการแยกโบกี้ออกจากตัวรถ แต่เมื่อแก้ไขสัญญาให้มาแยกที่ประเทศไทย ค่าแรงของคนงานที่ประเทศไทยน่าจะถูกกว่าการดำเนินการที่ประเทศญี่ปุ่นหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องต้นการปรับขนาดความกว้างของฐานเพลาล้อจาก 1.067 เมตรเป็น 1.00 เมตร ที่โรงงานมักกะสัน จะใช้เวลาประมาณ 25 วัน จากนั้นเมื่อปรับขนาดความกว้างของฐานเพลาล้อแล้วเสร็จ จะนำโบกี้กลับมาประกอบเข้ากับตู้รถไฟ (บอดี้) ที่สถานีรถไฟแหลมฉบัง ก่อนจะนำกลับมายังโรงงานมักกะสันทางรางรถไฟ และเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงขบวนรถต่อไป โดยจะทยอยดำเนินการ ทั้งนี้ตามแผนเดิมคาดว่าคันแรกจะแล้วเสร็จ และนำมาให้บริการประชาชนได้ประมาณปลายปี 67 แต่เมื่อขณะนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการปรับขนาดล้อ แนวโน้มน่าจะต้องเลื่อนการให้บริการออกไปเป็นปี 68.