จากกรณี นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ออกมาแสดงความกังวลว่าการที่กรมควบคุมโรค ไม่ยอมฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงให้กับผู้สัมผัสผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade 1 บี จำนวน 43 คน แต่ให้ไปสังเกตอาการที่บ้าน เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการระบาดนั้น

ล่าสุด วันที่ 29 ส.ค. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีมีผู้กังวลว่า ผู้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโรคฝีดาลิง สายพันธุ์ Clade 1b (Mpox Clade 1b) รายแรกของประเทศไทยว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ขอยืนยันว่า กรมควบคุมโรคมีการติดตามเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิดและผู้สัมผัสเสี่ยงทุกคนอย่างใกล้ชิด โดยมีการติดตามอาการทุกวัน ซึ่ง ณ ขณะนี้ นับตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา ยังไม่พบการติดเชื้อเพิ่มเติมแต่อย่างใด สำหรับผู้ติดเชื้อ 1 รายนั้น ก็ได้ดำเนินการแยกรักษา และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น ซึ่งจะได้รับการรักษาจนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อหรือตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พร้อมทั้งได้เน้นย้ำการป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เมื่อต้องสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ตามมาตรฐานการดูแลโรคอุบัติใหม่อย่างเคร่งครัด

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรคฝีดาษลิง (MPOX) ยังจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง จึงเป็นเพียงขอความร่วมมือจากผู้สัมผัสใกล้ชิดและผู้สัมผัสเสี่ยงในการปฏิบัติตน เพื่อประโยชน์ในการติดตาม เฝ้าระวังอาการ และควบคุมโรค โดยขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำ 5 ข้อ จนกว่าจะครบ 21 วัน หลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อ ได้แก่ 1. สังเกตอาการด้วยตนเองทุกวัน อาทิ ไข้ ผื่นผิวหนัง ซึ่งมักปรากฏที่ใบหน้า แขนขา อวัยวะเพศ และลำตัว ไอ จาม และต่อมน้ำเหลืองโต หากมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที 2.รักษาความสะอาดส่วนบุคคล ล้างมือและทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ หรือเมื่อสัมผัสพื้นผิวสัมผัส 3.งดการมีเพศสัมพันธ์ หรือพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูกหรือน้ำลาย ระหว่างกัน 4. งดการใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น อุปกรณ์รับประทานอาหาร และเสื้อผ้าร่วมกับผู้อื่น และแยกทำความสะอาด และ 5. เก็บและจัดการขยะที่อาจปนเปื้อนสารคัดหลั่งของตนเองให้มิดชิด แยกจากขยะทั่วไป โดยให้ปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคยังได้ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองโรค ทั้งที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเที่ยวบินที่มาจากทวีปแอฟริกา ที่มีผู้เดินทางเข้ามาวันละประมาณ 300 คน ซึ่งจะมีแพทย์คอยดูแลทุกคน อีกทั้งสามารถตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการได้ที่สนามบิน สำหรับกรณีการฉีดวัคซีนภายหลังการสัมผัส องค์การอนามัยโลกแนะนำให้สำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิด เช่น บุคคลในครอบครัว เป็นต้น ซึ่งจะใช้ภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยจะมีการประชุมปรึกษาถึงแนวทางการใช้ในวันที่ 6 ก.ย. นี้ ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถป้องกันตัวเองด้วยการงดการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลแปลกหน้า และหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เพื่อความปลอดภัย

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงในแวดวงผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส ด้านโรคติดเชื้อ กล่าวว่า ในส่วนของโรคฝีดาษลิงนั้น 1.การสัมผัสแบบนั่งเครื่องมาด้วยกันนั้น โอกาสติดเชื้อมีน้อย การจะติดต่อได้ต้องสัมผัสอย่างใกล้ชิด (Close contact) 2.การให้วัคซีนหลังการสัมผัสเชื้อก็ต้องบอกว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อต่ำมาก ๆ ระดับการป้องกันที่สูงสุดที่มีคนพูดถึงคือ 20% แต่ค่าสถิติติดลบ เรียกว่าเชื่อถือไม่ได้ ดังนั้น การฉีดวัคซีนหลังสัมผัสประสิทธิภาพการป้องกันต่ำ ขณะที่โอกาสติดต่อน้อย จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องฉีด อีกทั้ง วัคซีนมีความจำกัด มีความหายาก มีความขาดแคลน ควรให้พื้นที่มีความต้องการสูงนำไปใช้ก่อน เช่น แอฟริกา

แหล่งข่าวระดับสูงในแวดวงผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส ด้านโรคติดเชื้อ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงโดยตรงนั้นยังไม่มี ปัจจุบันมีเพียงวัคซีนป้องกันฝีดาษ ซึ่งทำมาจากหนองฝีของวัว หรือฝีดาษวัว แต่นี่ข้ามมาป้องกันไข้ทรพิษ ดังนั้นจึงมีการอนุมานว่าจะป้องกันฝีดาษลิงได้ด้วย ซึ่งในส่วนของการป้องฝีดาษลิงนั้น มีการศึกษาจริงๆ ว่า หากฉีด 2 เข็ม ก่อนการติดเชื้อ ประสิทธิภาพในการป้องกันจะอยู่ที่ 70-80% แล้วแต่คน ไม่ได้ป้องกัน 100% เพราะเป็นวัคซีนป้องกันฝีดาษวัว แล้วหากเป็นการฉีดหลังสัมผัสแล้ว ประสิทธิภาพในการป้องกันยิ่งต่ำ จึงใช้วิธีการรักษาแทน เพราะอัตราการเสียชีวิตต่ำ อย่างแอฟริกาที่เห็นว่าเยอะในเด็ก มีการวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเรื่องโภชนาการ เรื่องระบบสุขภาพ ก็ทำให้เกิดเสียชีวิตขึ้น แต่ถ้าคนที่แข็งแรงดี นั่งเครื่องบินได้ ถ้าติดเชื้อก็ไม่ตาย หรืออัตราการเสียชีวิตต่ำ.