วันที่ 29 ส.ค. นายอธิศ รุจิรวัฒน์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า แผนธุรกิจในครึ่งปีหลังของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยึดหลักความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง 5 กลยุทธ์ ซึ่งสอดรับสภาวะแวดล้อม และความต้องการลูกค้าที่เปลี่ยนไป เพื่อสร้างความเติบโตอย่างมีคุณภาพและรักษาความเป็นผู้นำธุรกิจการเงินไว้ โดยตั้งเป้าหมายทั้งปี 67 คาดมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 3.93 แสนล้านบาท เติบโต 8% เมื่อเทียบกับปี 66 ยอดบัญชีใหม่ 6.17 แสนบัญชี เติบโต 10% ยอดสินเชื่อใหม่ 1 แสนล้านบาท เติบโต 9% และมียอดสินเชื่อคงค้าง 1.51 แสนล้านบาท เติบโต 2%

ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บัตรเครดิตเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ทั้งบัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิตโลตัส มียอดใช้จ่ายบัตร 1.89 แสนล้านบาท เติบโต 9%, ยอดสินเชื่อใหม่ 47,000 ล้านบาท เติบโต 6%, ยอดสินเชื่อคงค้าง 1.4 แสนล้านบาท เติบโต 2% และมีบัญชีลูกค้าใหม่ 2.87 แสนบัญชี เติบโต 7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่หนี้ด้อยคุณภาพ หรือเอ็นพีแอล บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.4% ส่วนเอ็นพีแอลสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระ ต่ำกว่าในอุตสาหกรรมจากการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม

ขณะที่ 5 กลยุทธ์ในครึ่งปีหลัง ประกอบด้วย การมุ่งพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์หลักให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น, ขยายระบบนิเวศพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจ, สร้างเสริมนวัตกรรมทางการชำระเงิน, ผสานความร่วมมือในเครือกรุงศรี เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน

นายอธิศ กล่าวว่า ถ้าดูการเติบโตบัญชีบัตรใหม่ เติบโตน้อยกว่าตลาด ในเรื่องบัญชีเปิดใหม่และกรุงศรีเข้มงวดมาโดยตลอด จากการบริหารความเสี่ยง แต่จะช่วยในระยะยาว ทำให้หนี้เสียต่ำกว่าตลาด โดยยอมรับว่ามีอนุมัติสินเชื่อน้อยลง น้อยกว่าตลาด และเห็นการปรับจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตจาก 5% ไป 8% ตอนนี้เห็นการผิดนัดชำระเพิ่มขึ้น หนี้เสียเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราที่ควบคุมได้

“การผิดนัดชำระ เพิ่มช่วงปรับเยอะ แต่เริ่มทรงตัว เริ่มลดอยู่ในมิติที่ไม่น่าจะเพิ่มขึ้น เพราะลูกค้าเริ่มปรับตัวได้ คาดว่าหนี้เสียที่จะเพิ่มขึ้นจากนี้จนถึงสิ้นปีนี้ เพราะจ่ายขั้นต่ำบัตรเห็นผิดนัดมากขึ้นครึ่งปีหลังนี้ ขณะที่ยอดอนุมัติสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 40% สินเชื่อส่วนบุคคล 30-40% ลดลงจากปลายปีที่ผ่านมา 1-2% ซึ่งมองว่าการปรับจ่ายขั้นต่ำมา 8% บางรายก็มองว่าดี บางรายก็ไม่ดี แล้วแต่มุมมอง ตอนลดก็เฮ แต่ตอนขึ้นก็เจ็บทั้งลูกค้าและสถาบันการเงิน ส่วนตัวคิดว่า 8% ก็ดีแล้ว ในส่วนกรุงศรีมีการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ และคลินิกแก้หนี้ มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”