เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการที่ที่ประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน (ASED) ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 23-26 ส.ค. ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ได้ให้การรับรองถ้อยแถลงร่วมบุรีรัมย์ (Joint Statement of the 13th ASEAN Education Ministers Meeting) และเน้นย้ำการดำเนินการตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษา รวมถึงการตอบสนองต่อความท้าทายต่าง ๆ ของโลกที่จำเป็นต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต นั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้นำถ้อยแถลงร่วมบุรีรัมย์ มากำหนดทิศทางการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล และการดำเนินนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยเบื้องต้นในระยะเร่งด่วนที่ทำทันที คือ ลดการใช้เอกสารกระดาษให้เป็นศูนย์ ซึ่งตนได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ และหน่วยงานของ สพฐ.ในส่วนกลาง ลดการใช้เอกสารกระดาษ โดยเปลี่ยนจากเอกสารกระดาษหันมาใช้ระบบดิจิทัล เข้ามาช่วยในการจัดการเอกสารมากยิ่งขึ้น ยกเว้นเรื่องที่สำคัญจำเป็นต้องใช้เอกสารกระดาษอยู่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการประหยัดทรัพยากรแล้ว ยังช่วยลดภาระในการจัดเก็บเอกสารของครู และบุคลากรทางการศึกษาด้วย
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดการเรียนการสอนนั้น ที่ผ่านมา สพฐ.ได้จัดอบรม ส่งเสริม สนับสนุนยกระดับสมรรถนะทักษะด้านดิจิทัล ให้ครูมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการเรียนการสอน และส่งเสริมทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ให้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษาแล้ว ซึ่งเห็นศักยภาพของการจัดการศึกษาและศักยภาพของนักเรียน ได้จากผลงานของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ที่นำไปร่วมแสดงในส่วนของการจัดนิทรรศการด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล” เช่น บูธจากโรงเรียนบ้านหนองนาเวียง จ.ศรีสะเกษ แสดงผลงานโรงเรียนขนาดเล็กศักยภาพสูง ที่พลิกโฉมแนวทางการบริหาร ยกระดับสู่การเป็นโรงเรียนคุณภาพระดับสากล บูธจากโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ แสดงการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำโดยบูรณาการการเรียนรู้ STEAM เน้นการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ และการนำเสนอเครื่องมือ SMART BOX ซึ่งเป็นเครื่องมือฝึกทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ และทักษะดิจิทัล บูธจากโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ แสดงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนผู้พิการทางการได้ยิน บูธจากโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง กรุงเทพฯ แสดงรูปแบบการเรียนรู้ แบบผสมผสานและยืดหยุ่นด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม เอื้อต่อการเรียนรู้ Anywhere Anytime และบูธจากเครือข่ายโรงเรียน DLTV IDL และกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่แสดงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) การจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง การจัดการเรียนรู้ด้วย Digital Technology เป็นต้น ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากประเทศต่างๆ ที่เข้าชมนิทรรศการ และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ฝากคำขอบคุณไปยังครู บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนนักเรียน และผู้ปกครอง ที่ร่วมทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพที่ดี ทั้งนี้ สพฐ.จะพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน ที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัลให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น.