เกือบ 2 เดือนเต็ม ที่กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ร่วมกับ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ดำเนินโครงการคาราวานความรู้ตลาดทุนรุกสู่ภูมิภาคและบ่มเพาะต้นแบบคนรุ่นใหม่ เข้าสู่ตลาดทุน หรือ Fin Lab ในพื้นที่ 8 จังหวัด 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ เริ่มคิกอ๊อฟที่แรก จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ต่อด้วย ลำปาง แม่ฮ่องสอน จันทบุรี ยะลา ภูเก็ต ขอนแก่น และนครราชสีมา ที่เพิ่งปิดโครงการไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเยาวชนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมทะลุหมื่นคน โครงการคาราวานความรู้สู่ตลาดทุนรุกสู่ภูมิภาค เป็นโครงการที่มีเป้าหมาย มุ่งสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีสมรรถนะและทักษะด้านการเงินการลงทุน โดยเน้นกลุ่มวัย 13-18 ปี เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เพิ่มองค์ความรู้ด้านทักษะทางการเงิน การออม การลงทุนที่ถูกต้องเหมาะสม โดยเน้นการกระจายแหล่งเรียนรู้ด้านการลงทุนไปสู่ภูมิภาค

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ OKMD กล่าวว่า กิจกรรมตลาดนัดความรู้ ช่วยเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพด้านการเงินการลงทุนผ่านตลาดทุนให้กับเด็กและเยาวชน หรือที่เราเรียกว่า Fin Lab New Gen  เป็นโครงการที่ให้ความรู้กระจายสู่ภูมิภาค โดยเน้นเรื่องการวางแผนทางการเงิน เราพยามที่จะสร้างแรงบันดาลใจ และส่งต่อความรู้ให้กับเยาวชนในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้เยาวชนได้เข้าถึงการเรียนรู้ทางด้านการออมและการลงทุน ผ่านกิจกรรมที่เน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning จากองค์ความรู้พื้นฐานด้านทักษะทางการเงิน การออม การลงทุน ต่อยอดสู่ทักษะการเงินการลงทุนในอนาคต

“การวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญ เยาวชนต้องมีความรู้ความเข้าใจและสร้างแรงบันดาลใจด้วยตนเอง เพื่อให้เขามีรายได้พอที่จะดูแลครอบครัว เหลือจากนั้นก็ออม และเลือกลงทุนได้ และยังมีความรู้เท่าทันอาชญากรรมทางไซเบอร์ ที่มาเอาเงินเราผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าการจัดงานตลอดทั้งโครงการ มีเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมถึง 10,091 คน เกินกว่าที่เราตั้งเป้าไว้ครั้งแรกคือ 3,500 คน ถือเป็นการจุดประกายการเรียนด้านการออมและการลงทุนของเยาวชนได้อย่างดีเยี่ยม” ดร.ทวารัฐ กล่าว

ด้าน “จักรชัย บุญยะวัตร” ผู้จัดการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน กล่าวว่า โครงการนี้ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบนิเวศของตลาดทุนไทย ให้มีประสิทธิภาพ และเอื้อต่อการพัฒนา แข่งขัน และเติบโตของตลาดทุนไทยได้อย่างยั่งยืนผ่านการ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุน การลงทุน และการพัฒนาตลาดทุนให้แก่เด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศ เนื่องจากขณะนี้สังคมไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลง ทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และโดยเฉพาะภาคการเงิน อาทิ หนี้สินภาคครัวเรือนสูงเทียบเท่าประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กและเยาวชนไทยที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในอนาคต มีแนวโน้มที่จะขาดความรู้พื้นฐานทางการเงิน การบริหารเงินในโลกยุคใหม่ การใช้จ่ายและการลงทุนที่ขาดความรู้ความเข้าใจที่ดีพอ การสร้างภาระหนี้สินโดยไม่จำเป็น อีกทั้งขาดการวางแผนการออมระยะยาวที่ไม่ก่อให้เกิดการลงทุนต่อยอดจากทรัพย์สิน ดังนั้น การพัฒนาทักษะทางการเงินและการวางแผนการเงินจึงเป็นแนวทางสำคัญเพื่อบ่มเพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นการพัฒนาทักษะทางการเงินรูปแบบใหม่จึงเป็นแนวทางสำคัญ

ขณะที่ “เดือนเพ็ญ จันทร์ศิริศรี” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความรู้การเงินขั้นพื้นฐานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มองว่า โครงการดังกล่าว เป็นเวทีสำคัญที่จะช่วยให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์เชื่อมั่นว่า เยาวชนที่มีความเข้าใจเรื่องการเงินการลงทุนอย่างถูกต้อง จะใช้เงินเป็น หาเงินเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ที่สำคัญจะสามารถแก้ปัญหาการเงินทั้งของตนเอง และคนรอบข้างได้ด้วย ดังนั้นเยาวชนที่เข้าใจเรื่องการเงิน การลงทุนย่อมจะมีส่วนร่วมในการสร้างเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ นอกจากนี้ในปัจจุบัน โลกของกาเงินการลงทุนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การมีความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยวางแผนและตัดสินใจ พร้อมให้หลักคิดในการเสริมทักษะทางการเงินและการลงทุนให้เท่าทันใน 4 รู้คือ รู้หา รู้เก็บ รู้ใช้ และรู้ขยายดอกผล จะกลายเป็นนักออม และนักลงทุนที่มีคุณภาพในอนาคต

ส่วสน “เศรษฐพล ธรรมจินดา” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินการลงทุนให้กับคนทุกช่วงวัยตลอดมา และโดยเฉพาะวัยเด็ก ถือเป็นการปูพื้นฐานที่สำคัญ ในการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดทุนในอนาคต ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เองเชื่อมันว่า การที่เด็กๆ สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการเงินการลงทุนและมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจะช่วยให้เขาสามารถต่อยอดความรู้กับการเรียน อาชีพและการสร้างรายได้ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเกิดการวางแผนการเงินและการลงทุนที่เหมาะสมกับช่วงวัย อันนำไปสู่การลดปัญหาทางการเงินส่วนบุคคล ซึ่งส่งผลต่อสเถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในภาพรวมได้

กิจกรรม Knowledge Network Partners ได้ ยกคาราวานภาคีเครือข่ายออกบูทให้ความรู้ด้านการเงินการลงทุนผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจ เริ่มจาก 1.ธนาคารออมสิน 2. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) 3. ธนาคารกรุงไทย 4. สมาคมยุวชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อไทย (YSDA) 5. ธนาคารแห่งประเทศไทย 6. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

ขณะที่เยาวชนเองก็ตอบรับหลังการเข้ารับการอบรม เริ่มจาก กรวิชญ์ ระกาสี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎ์ จ.ฉะเชิงเทรา ได้แบ่งปันประสบการณ์ โดยยอมรับว่า ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมกิจกรรม ก็รู้เรื่องการออมบ้างแต่เรื่องลงทุนไม่เคยรู้ และคิดว่าเป็นความเสี่ยง แต่เมื่อครอบครัวประสบปัญหาทางการเงิน เลยรู้จักเก็บออมเพราะคิดว่าเราจะสามารถมีเงินช่วยแบ่งเบาได้ ส่วนตัวแบ่งเงินที่ได้รับ ออกเป็นสองส่วนคือใช้จ่าย และเก็บออม 40% และเมื่อครูบอกว่ามีกิจกรรมเรื่องการลงทุน จึงสนใจเข้าร่วม และได้เรียนรู้ผ่านเกม การวางแผนชีวิตว่า เมื่อเราอยู่มัธยมต้น เราควรทำงยังไง มัธยมปลายทำยังไง มหาวิทยาลัยทำยังไง รวมไปถึงเมื่อเข้าสู่วัยทำงานเราต้องวางแผนชีวิตแบบไหน เรียน ทำงานเที่ยว จึงอยากให้มีกิจกรรมดี ๆ แบบนี้

ขณะที่ฮุษณา เจ๊ะอามะ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาการจัดการ สาขาการค้าชายแดนและโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จ.ยะลา เล่าถึงประสบการณ์ทางการเงินของตัวเอง โดยส่วนตัวไม่เคยออมเงินเอง ไม่เคยวางแผนหรือจัดตารางการใช้เงิน มีเท่าไหร่ใช้หมด แต่หลังจากที่ได้รับการอบรม ทำให้ได้เรียนรู้การวางแผนค่าใช้จ่าย ได้รู้ว่าเราจะออมเงินอย่างไรไม่ให้ติดลบ จะใช้จ่ายกับอะไรบ้างเพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับเงิน เพื่อทำแผนการออมไว้ในอนาคตหลังเรียนจบ ทำให้ชีวิตเรามีเป้าหมายมากขึ้น

ศุภวิชญ์ พลฤทธิ์ นักเรียนชั้น ม. 5 โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น ก็ได้ให้มุมมองในด้านการเงินไว้อย่างน่าสนใจว่า เด็กทุกคนควรต้องมีความรู้ทางด้านการเงิน เพราะเราต้องใช้เงินกันตั้งแต่เกิด หากได้เรียนรู้เรื่องการออมเงิน ก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีเงินมากมายในการใช้ชีวิต ส่วนตัวโชคดีที่พ่อให้ความรู้ด้านธุรกิจตั้งแต่เด็ก จึงรับรู้ได้เร็ว จึงอยากแนะนำเพื่อนๆ ว่าเรื่องการออมและการลงทุนไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากเราเรียนรู้ตั้งแต่เด็กๆ เราจะสามารถวางแผนทางการเงิน เพื่อการออมและการลงทุนอย่างถูกวิธี เราก็จะมีเงินใช้อย่างสบายในอนาคต โดยส่วนตัวทุกวันนี้ในแต่ละเดือนจะลิสต์ไว้เลยว่า รายรับ รายจ่ายเท่าไร และนำเงินบางส่วนไปลงทุนเท่าไร และการได้เข้าอบรมในครั้งนี้ก็เหมือนการได้ติดอาวุธทางการลงทุนให้มุ่งเป้ามากขึ้น

ขณะที่ รชต แสงลี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ยอมรับว่า ส่วนตัวแทบไม่เคยได้เรียนรู้เรื่องการออมและการลงทุน ด้วยวิถีชีวิตพอเรียนเสร็จก็ซ้อมดนตรี แต่เมื่อมาได้อบรม ทำให้กลับมาตั้งหลักคิดว่า เราควรนำเงินที่ได้รายเดือนจากพ่อแม่ และรายได้จากการรับจ้างเล่นดนตรี มาแบ่งใช้จ่าย เก็บออม และลงทุนอย่างไร และจะเรียนรู้เพิ่มเรื่องการคำนวณภาษี และการลงทุน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น