ส่งผลกระทบความปลอดภัยประชาชน และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ล่าสุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยข้อมูล สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 ถึง ก.ค. 67 เฉลี่ย 10 เดือน พบสินค้าไม่ได้มาตรฐานคิดเป็นมูลค่ากว่า 344 ล้านบาท มากกว่าปี 66 ที่มีมูลค่ารวม 203 ล้านบาท

สำหรับกลุ่มสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่พบมากสุด ได้แก่ เหล็ก และวัสดุก่อสร้างมูลค่ากว่า 126 ล้านบาท, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 111 ล้านบาท, ยางล้อรถยนต์ 86 ล้านบาท และโภคภัณฑ์ 17 ล้านบาท ซึ่ง “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รมว.อุตสาหกรรม สั่งให้สมอ.ติดตามสถานการณ์เหล็กในประเทศอย่างใกล้ชิด มีทั้งนำเข้าเหล็กเคลือบ ทั้งเคลือบสังกะสี อะลูมิเนียม แมกนีเซียม และเคลือบสี ที่มีราคาถูกจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เป็นเหล็กที่มีคุณภาพตํ่า และไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเหล็กเคลือบภายในประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถขายสินค้าได้ ยังส่งผลถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่นำเหล็กเคลือบดังกล่าวไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต จึงได้สั่งการให้สมอ. เร่งดำเนินการควบคุมเหล็กเคลือบทุกประเภทที่จำหน่ายในท้องตลาดโดยเร็ว เพื่อสกัดกั้นเหล็กเคลือบที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาในราชอาณาจักร ยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนและอุตสาหกรรมภายในประเทศ

เรื่องนี้ “วันชัย พนมชัย” เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ขยายความว่า ได้หารือร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ติดตามสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กทั้งในและต่างประเทศ หลังจากที่บอร์ดมีมติเห็นชอบมาตรฐานเหล็กเคลือบทั้ง 4 มาตรฐาน แล้ว สมอ. จะเร่งดำเนินการให้เป็นสินค้าควบคุมโดยเร็ว เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนและปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

ปัจจุบัน สมอ. ประกาศใช้มาตรฐานเหล็กจำนวน 213 มาตรฐาน เป็นสินค้าควบคุมจำนวน 22 มาตรฐาน และเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจจำนวน 191 มาตรฐาน นอกจากการดูแลประชาชนและอุตสาหกรรมในประเทศแล้ว ด้านการค้าระหว่างประเทศ สมอ. ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะทำงานด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ภายใต้การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการส่งออกเหล็กของไทยได้ทราบถึงความคืบหน้าของมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ “มาตรการ CBAM” (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งเป็นการกำหนดค่าธรรมเนียมจาก ผู้นำเข้าสินค้าที่เข้ามาใน EU โดยอ้างอิงตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า

สำหรับสินค้า 6 กลุ่มแรกที่มีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูงในกระบวนการผลิต ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ ปุ๋ย อะลูมิเนียม ไฟฟ้าและไฮโดรเจน โดยสมอ. อยู่ระหว่างการหารือกับผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อให้ยอมรับรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตที่ออกโดยหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง สมอ. จะแจ้งความคืบหน้า
ของการหารือดังกล่าวให้ผู้ประกอบการทราบเป็นระยะ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการดังกล่าวต่อไป.