สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ว่าผลการสำรวจแนวโน้มการผลิตของรัฐเทกซัส ซึ่งจัดทำโดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สำนักงานเมืองดัลลัส และเผยแพร่ในสัปดาห์นี้ มีการอ้างอิงคำกล่าวของผู้ผลิตอาหารแห่งหนึ่ง ว่าพบอัตราการเติบโต “แบบปานกลาง” ในการบริโภคไส้กรอกเป็นอาหารมื้อเย็น


ทั้งนี้ ความต้องการไส้กรอกที่เพิ่มขึ้นในท้องตลาด เป็นสัญญาณบ่งชี้ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากใช้ประเมินได้ว่า ครัวเรือนในสหรัฐกำลังรัดเข็มขัดมากขึ้น ด้วยการเลือกรับประทานไส้กรอก “เป็นโปรตีนทางเลือก” ซึ่งมีราคาถูกกว่าเนื้อวัวหรือเนื้อไก่


ราคาของชำในตลาดสหรัฐแพงขึ้นแบบก้าวกระโดด นับตั้งแต่ผ่านพ้นการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 รายงานโดยเดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล เผยแพร่เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ระบุว่า ชาวอเมริกันใช้จ่ายเงินเป็นสัดส่วน 11.3% ของรายได้ที่สามารถใช้สอยได้จริง ไปกับการซื้อหาอาหาร เมื่อปี 2565 ถือเป็นสัดส่วนสูงที่สุด นับตั้งแต่ปี 2534

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคในสหรัฐให้ความสำคัญมากขึ้นในเรื่องของ “ความคุ้มค่า” รายงานผลประกอบการของแมคโดนัลด์ เมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า ลูกค้าซึ่งมีรายได้น้อยลดการรับประทานอาหารนอกบ้านลง เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่มีค่าใช้จ่ายสูง ด้วยเหตุนี้ แมคโดนัลด์ในอเมริกาจึงจัดทำ “อาหารชุดสุดคุ้ม” ราคา 5 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 170 บาท) ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นอย่างดี


ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอยู่บนแนวโน้มขาลง หลังพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง ในช่วงฤดูร้อนของปี 2565 สถิติเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.9% นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3%


ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เฟดซึ่งยังคงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของประเทศ “ที่ระดับ 2%” น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในเดือน ก.ย. นี้ ซึ่งน่าจะเป็นการลดลงอีก 0.25% มากกว่าที่จะลดลงอีก 0.50% โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เฟดกำหนด ณ เวลานี้ อยู่ที่ระหว่าง 5.25%-5.50%.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES