ปิดฉากลงไปอย่างงดงามสำหรับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2567 ภายใต้แนวคิด “Future Science Community for All” ระหว่างวันที่ 16 – 25 ส.ค.2567 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี จัดโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินการโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.) หรือ NSM โดยมีหน่วยงานทั้งไทยและต่างประเทศ จาก 106 หน่วยงานร่วมจัดอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตพร้อมส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแก่คนไทยทุกช่วงวัย
โดยตลอด 10 วันของการจัดงานมีผู้เข้าชมทั้งนักเรียน นักศึกษา ครอบครัว และประชาชนเข้าร่วมงานเฉียด 7 แสนคน ขณะที่ยอดการเข้าชมออนไลน์สูงกว่า 2 ล้านครั้ง และมียอดจองเข้าชมงานล่วงหน้ากว่า 300,000 คน จาก 1,200 กว่าโรงเรียนทั่วประเทศ แสดงให้เห็นถึงการตอบรับอย่างล้นหลามจากสถานศึกษาและกลุ่มเยาวชนที่ตื่นตัวต่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสมกับเป็นงานมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทยและในภูมิภาคอาเชียน
น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวง อว.เปิดเผยว่า “ดิฉันและครอบครัวได้มีโอกาสมาชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ เกือบทุกวันที่มีเวลาและโอกาส ได้ชมพร้อมกับเรียนรู้เรื่องราวความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปพร้อม ๆ กับ นักเรียน นักศึกษาตลอดจนครอบครัวและประชาชนที่มาชมงาน ดิฉันได้เห็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เห็นความสนุก การหยอกล้อ การโต้ตอบ เห็นความกล้าลองสิ่งใหม่ของน้องๆ ที่ทำกิจกรรมในบูธนิทรรศการต่างๆ นี่คือสิ่งที่ดิฉันอยากเห็น เพราะเด็กๆ ควรมีโอกาสได้เล่น ได้ลอง ได้ล้ม และได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับการเติบโตให้สมกับวัยของพวกเขาในแต่ละช่วงชีวิต เพราะกระทรวง อว.กำลังมุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างสังคมที่ผู้คนมีนิสัยรักการเรียนรู้ ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการเรียนรู้ สนใจและใฝ่หาความรู้อย่างสม่ำเสมอ”
ด้านผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.อพวช. หรือ NSM กล่าวว่า สำหรับนิทรรศการที่จัดขึ้นในงาน มี 3 นิทรรศการที่ได้รับความยอดนิยมสูงสุด อันดับแรก ที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ได้แก่ 1. นิทรรศการ “เชื่ออย่างวิทย์ฯ” ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ปรากฎว่าได้รับความสนใจมากที่สุดจากผู้เข้าชม เพราะนำเสนอกิจกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อ สิ่งลี้ลับ ความพิศวงน่าสงสัยเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยาทั้งพืช สัตว์ มนุษย์และปรากฎการณ์ทางธรรมชาติรวมถึงขนบประเพณีของสังคมไทยในชีวิตประจำวันผ่านมุมมองทางวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง 2. นิทรรศการ “รู้ทันควัน The Battle” จาก สสส. นิทรรศการที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและการต่อสู้กับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ผ่านการ Battle กัน ทำให้ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เข้าชม โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน 3. นิทรรศการ “THE GLOBE VENGERs” หรือฮีโร่พิทักษ์ความยั่งยืน โดย UN Global Compact Network Thailand – นิทรรศการนี้ดึงดูดความสนใจจากผู้เข้าชมจำนวนมากด้วยการนำเสนอปัญหาและแนวทางการแก้ไขในระดับโลกอย่างสร้างสรรค์และมีเอกลักษณ์
ขณะที่น.ส.ศุภมาส ได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 ว่า “กระทรวง อว.ขอขอบคุณทุกความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตลอดจนหน่วยงานจากต่างประเทศที่มีส่วนให้งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ปิดฉากได้อย่างสมบูรณ์และประสบความสำเร็จ ซึ่งความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกหน่วยงานและทุกท่านถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราสามารถนำเสนอความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และแนวทางใหม่ ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศของเราไปข้างหน้า โดยกระทรวง อว. จะเดินหน้าและมุ่งมั่นในการสนับสนุนการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตพร้อมส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแก่คนไทยทุกช่วงวัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนและเจริญรุ่งเรืองสำหรับประเทศไทย และเราหวังว่าจะได้พบกับทุกท่านในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2568”