ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมสีเขียวกลายเป็นความหวังใหม่ของการพัฒนาที่ยั่งยืน ล่าสุด กลุ่มนิสิตวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยการนำเศษวัสดุเหลือทิ้งจากลูกตาลโตนดมาผลิตเป็นกระดาษ

กลุ่ม “ดาษลูกโหนด” เกิดจากการรวมตัวของนิสิตชั้นปีที่ 3 และ 4 หลักสูตรวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจัทัล ภายใต้การดูแลของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีรนาฏ คิดดี เป็นส่วนหนึ่งของโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2567 ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นและสร้างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยได้รับความร่วมมือจากชุมชนหลาดใต้โหนด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ในการถ่ายทอดความรู้ด้านงานศิลป์ให้แก่นิสิต ซึ่งนิสิตได้นำเทคนิคการทำกระดาษนี้ไปถ่ายทอดสู่ชุมชนต่อไป เป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการเรียนการสอนและความเป็นผู้ประกอบการให้แก่นิสิต ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร. พีรนาฏ คิดดี เผยว่า โครงการนี้สอดคล้องกับ BCG Model หรือโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green ซึ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า การนำวัสดุเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นายบุคคอรี อาริหมาน นิสิตชั้นปีที่ 4 หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม อธิบายกระบวนการผลิตโดยเริ่มจากตั้งแต่การเตรียมใบสับปะรดซึ่งมาช่วยยึดเส้นใย และเส้นใยตาลโตนด ตัวใบสับปะรดเองต้องผ่านการฝอกด้วยสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ ประมาณ 24 ชม. ก่อนนำมาต้ม 4 ชม. และปั่นจึงจะได้เส้นใยออกมา จากนั้นนำเส้นใยของทั้งสองมาผสมกันในอัตราส่วน 80:20 ก่อนจะไปขึ้นรูปและตากให้แห้งจนกลายเป็นตัวกระดาษที่สามารถต่อยอดนำไปพัฒนาเป็นตัวปกหนังสือ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมายเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนและส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการของนิสิต โครงการนี้ไม่เพียงสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนิสิตในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม บูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน และการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นใหม่ นับเป็นก้าวสำคัญสู่อนาคตที่ยั่งยืนตามแนวทาง BCG Model ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป