แพทย์หญิง อาทิตยา จงไพบูลย์กิจ ผู้จัดการแผนกการแพทย์และอาชีวอนามัย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า มาตรฐานด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม เป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงานของ ปตท.สผ. จึงจับมือกับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สพฉ.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ในกรณีอุบัติภัยหมู่ในพื้นที่ปฏิบัติการสงขลา” ในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ในพื้นที่และซ้อมแผนระดับจังหวัด ในวันที่ 27-28 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมลากูนาแกรนด์ แอนด์สปา จังหวัดสงขลา เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งภายในและภายนอกร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ 100 คน
การอบรมเชิงปฏิบัติการและฝึกซ้อมในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานตามแนวทางการบริหาร ควบคุมและป้องกันความเสี่ยง เพื่อเตรียมความพร้อม ที่ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับการปฏิบัติงานในทุกระดับ เพื่อให้บุคลากรภายใน ปตท.สผ. และหน่วยงานภายนอกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ มีความรู้เข้าใจบทบาทหน้าที่ และเพื่อพัฒนาศักยภาพ เตรียมความพร้อมรองรับกรณีอุบัติภัยหมู่ได้ด้วยการจัดการอย่างเป็นระบบ ตามมาตรฐานสากล สามารถประสาน ปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ มีความพร้อมร่วมกันตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน เช่น อุบัติภัยหมู่ หรือภัยพิบัติ ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นการป้องกันและลดผลกระทบความเสียหายด้านต่างๆ รวมทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจโดยรวม และสามารถพัฒนายกระดับการเตรียมรับมือให้ทันสมัยสอดคล้องกับการพัฒนาของเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต
นายบัญชา ฉิมตระกูล ผู้จัดการฐานสนับสนุนสงขลา บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม สงขลา ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการซักซ้อมเพื่อตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน เช่น กรณีหากเกิดอุบัติภัยขนาดใหญ่ หากมีการเตรียมความพร้อมไว้อย่างดี จะทำให้สามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพช่วยบรรเทาผลกระทบต่างๆ ที่เกิด และกรณีอุบัติภัยขนาดเล็ก ก็อาจไม่เกิดผลกระทบ หากมีความพร้อมในการรับมือได้ดี
เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) อุบัติภัยส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว อุบัติภัยหมู่ ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้าง และเมื่อเกิดเหตุแล้ว ไม่ได้เป็นเพียงความรับผิดชอบของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นภารกิจที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการ เพื่อตอบสนอง บรรเทา และฟื้นฟูภัยที่เกิดขึ้น โดยครั้งนี้ ใช้เครื่องมือฝึกแบบ MASS SIM หรือ Mass Casualty Simulation ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนา ปรับปรุงแนวทางระดับจังหวัดให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ระดับสากล และมีฝึกซ้อมแผนและใช้อุปกรณ์ รองรับอุบัติภัยหมู่ในระบบ Thai Sim โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ความรู้เนื้อหาครอบคลุมการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ใช้ในระดับประเทศและสากลด้วย