จากเหตุการณ์อุทกภัยในภาคเหนือหลายจังหวัด เกิดปริมาณน้ำสะสมจากเหตุฝนตกหนัก ทำให้น้ำในแม่น้ำสายสำคัญของ 4 สาย ต้องมีการระบายน้ำลงมาสู่ตอนล่างของประเทศ

“เดลินิวส์” จะพาไปดูเส้นทางของแม่น้ำ 8 สายหลักสำคัญ ว่าจะไหลลงไปในพื้นที่ไหนบ้าง

1.ในภาคเหนือมีเขื่อนที่สำคัญอยู่ 4 แห่ง คือเขื่อนภูมิพล จ.ตาก กั้นแม่น้ำปิง, เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ กั้นแม่น้ำน่าน, เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง กั้นแม่น้ำวัง ส่วนแม่น้ำยมไม่มีเขื่อนกั้น หากฝนตกมากน้ำจะท่วมจังหวัดพะเยา แพร่ สุโขทัยและพิษณุโลกเป็นประจำ นอกจากนี้ยังมีเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก กั้นแม่น้ำแควน้อย ทั้งหมดจะไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ต.ชุมแสง อ.ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์

2.แม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลผ่านจังหวัดอุทัยธานีโดยมีแม่น้ำสะแกกรังไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วไหลผ่านจังหวัดชัยนาท..ที่นี่จะมีเขื่อนเจ้าพระยากั้นกลางแม่น้ำเจ้าพระยา..ที่อำเภอสรรพยาจะมีประตูระบายน้ำปิดเปิดตามที่กำหนด

3.แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านไปยังจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง และอยุธยา..ที่นี่จะมีแม่น้ำป่าสักที่ระบายน้ำออกมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จังหวัดลพบุรีระบายมายังจังหวัดอยุธยาผ่านเขื่อนพระรามหกและมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่หน้าวัดพนัญเชิงแล้วไหลไปสู่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯและออกสู่อ่าวไทยที่ปากน้ำจังหวัดสมุทรปราการ

4.ฝนตกในภาคเหนือในปริมาณมาก น้ำจะไหลบ่ามาสู่ภาคกลาง..หากสถานีวัดน้ำ C.13 จังหวัดชัยนาทปล่อยน้ำเหนือจากเขื่อนเจ้าพระยาลงมาถึง 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที และสถานีวัดน้ำ C.29A ที่หน้าศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ตรวจวัดปริมาณน้ำได้เกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จะทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นเกิน 1.0 เมตรจากปรกติทำให้น้ำล้นตลิ่ง ประกอบกับฝนตกหนักจะมีโอกาสที่น้ำจะท่วมจังหวัดนนทบุรี กรุงเทพฯฝั่งตะวันออกและสมุทรปราการได้มากขึ้น

5.ร่องมรสุมและพายุที่พัดเข้ามากขึ้นและแรงขึ้น+ปรากฏการณ์ลานีญากำลังแรง + น้ำเหนือไหลหลาก+น้ำทะเลหนุน จะทำให้เกิดฝนตกหนักมากขึ้น น้ำท่วมจะภาคกลางถึงกรุงเทพฯ หรือไม่ต้องจับตาดูช่วงกลางเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคมนี้…ทั้งหมดมาจากโลกที่ร้อนขึ้นทุกปี.

ขอบคุณข้อมูล : เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat