เมื่อวันที่ 27 ส.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ลงเรือตรวจความพร้อมแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากท่าเรือส่วนการท่องเที่ยว ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เขตพระนคร ถึงสะพานกรุงธน (ซังฮี้) เขตบางพลัด รับสถานการณ์น้ำเหนือและน้ำฝน

นายชัชชาติ ระบุ กทม. สามารถรับน้ำเหนือได้อีกมาก เพราะเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพล ยังมีความจุ สถานการณ์ต่างจากปี 54 ประกอบกับ 2 ปีที่ผ่านมา ได้นำบทเรียนจากปี 65 มาปรับปรุงโครงสร้างและระบบให้ดีขึ้น ย้ำว่าสิ่งที่น่ากังวลกว่าน้ำเหนือคือ น้ำฝน เพราะจากเรดาร์พบช่วงเดือน ก.ย. นี้ จะมีฝนตกมากกว่าปกติ และอาจมีชุมชนนอกคันกั้นที่ได้รับผลกระทบ โดยเตรียมกระสอบทราบ 250,000 ใบ เพื่อปิดกั้นจุดเสี่ยงต่างๆ แล้ว

ด้านนายวิศณุ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคเหนือ อาจทำให้ระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนหน้านี้มีการติดตามความเคลื่อนไหวและประสานข้อมูลกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อเตรียมรับมือบางพื้นที่ที่อาจเกิดน้ำท่วม ขณะที่สถานการณ์น้ำเหนือ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสัก เมื่อเปรียบเทียบห้วงเวลาเดียวกับปีที่แล้วพบว่า ปีนี้สถานการณ์ดีกว่าและสามารถรองรับน้ำได้เพิ่ม

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบห้วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว พบว่าปีนี้สถานการณ์ดีกว่าและยังสามารถรองรับน้ำได้เพิ่ม โดยต้องเฝ้าระวัง ติดตามมวลน้ำที่มาจากแม่น้ำยมใกล้ชิดไม่ให้เข้าเขื่อนหลักและระบายลงสู่เจ้าพระยา

“ปัจจุบันมวลน้ำไหลลงมาถึง จ.สุโขทัย คาดว่าในวันที่ 2 ก.ย. จะมาถึง กทม. ซึ่งอัตราระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระดวังก่อนถึง กทม. คือ บริเวณสถานีบางไทร อัตราระบายน้ำ ณ วันที่ 26 ส.ค. 67 เฉลี่ยอยู่ที่ 989 ลบ.ม./วินาที ส่วนอัตราระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ที่ 2,500 ลบ.ม/วินาที”

สำหรับการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการและระบบป้องกัน เบื้องต้นได้ตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมแนวป้องกันริมเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 54 ได้เสริมแนวคันกั้นถาวรริมเจ้าพระยาสูงตลอดแนวที่ระดับ 2.80-3.50 ม.รทก. พร้อมเรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราวบริเวณแนวฟันหลอแล้ว.