เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความเห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ในการอภิปรายของ สว. พบว่ามีความเห็นไปในทางสนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว แต่มีรายละเอียดที่ยังเห็นแย้ง โดยเฉพาะเกณฑ์การผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมาก ที่สภาผู้แทนราษฎร แก้ไขให้ใช้เพียงเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิเท่านั้น

โดยนายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. อภิปรายไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขเนื้อหาของมาตรา 13 ว่าด้วยเกณฑ์เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น ซึ่งตนไม่เห็นด้วยที่ตัดเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งชั้นที่ 2 ว่าด้วยเกณฑ์ให้ใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ เพราะหากมีการออกเสียงประชามติ มีคนใช้สิทธิ 10 ล้านคน จากประชาชนที่มี 52 ล้านคน และเห็นชอบแค่ 5 ล้านหนึ่งเสียง เท่ากับผ่านประชามติ แต่เมื่อคิดเป็นเป็นเปอร์เซ็นต์ พบว่าเป็นร้อยละ 10 เท่านั้น ซึ่งเห็นว่าควรใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีใช้สิทธิจะดีกว่า เพื่อให้ความเป็นธรรมกับคนไทยทุกคน ส่วนใครจะมองว่าทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า ซึ่งเราจะรีบร้อนทำไม เพราะกรณีนี้ควรแก้ไขให้ถูกต้อง ก่อนไปแก้ไขกฎหมายต่างๆ รวมถึงรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยาก

ขณะที่นายประภาส ปิ่นตบแต่ง สว. อภิปรายว่า ตนสนับสนุนการผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากแบบธรรมดา เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ช่วงต้นถกเถียงจะใช้เสียงข้างมากสองชั้น แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้เสียงข้างมากธรรมดาเพราะเกรงว่าไม่ผ่าน ซึ่งการทำประชามติเราผ่านมาแล้ว จะชักบันไดหนีหรือไม่ ดังนั้นจึงเป็นความชอบธรรมที่จะใช้เสียงข้างมากธรรมดา สำหรับการกำหนดเสียงข้างมากแบบสองชั้นในต่างประเทศพบปัญหา เพราะจะทำให้หมดแรงจูงใจออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังมีข้อเสนอแนะของ สว. ต่อการตั้งคำถามประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย อาทิ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. ระบุว่า การตั้งคำถามประชามติ ไม่ควรเป็นคำถามเชิงซ้อน อย่างที่มีข้อเสนอให้ทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ถือเป็นคำถามเชิงซ้อน ดังนั้นขอให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทบทวนมติ แก้ไขคำถามประชามติเชิงเดี่ยว และหากอยากรู้ความคิดเห็นประชาชนขอให้ทำคำถามแยก

ขณะที่ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. อภิปรายเสนอแนะให้แก้ไขคำถามที่มีลักษณะซ้อนคำถามไม่สามารถตอบได้ด้วยคำตอบเดียว เช่น หากตนเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยกับการเว้นการแก้ไขหมวดใด จะเลือกคำตอบว่า “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” รวมถึงควรตั้งคำถามที่ไม่ยากต่อความเข้าใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่ สว. อภิปรายครบถ้วนแล้ว ได้ลงมติรับหลักการ 179 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง

ทั้งนี้ในการพิจารณาวาระสองนั้น พบว่ามีการเสนอญัตติให้ใช้การตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เต็มสภา โดยนายเทวฤทธิ์ เสนอ เพราะมองว่าหากพิจารณาไม่เสร็จทันสมัยประชุมที่จะหมดลงเดือน ต.ค. อาจทำให้การทำประชามติครั้งแรกไม่ทันเดือน ก.พ. 68 ขณะที่ สว. เสียงส่วนใหญ่ เห็นว่าควรตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) จำนวน 25 คน พิจารณาในกรอบเวลา 60 วัน ทำให้มีการโหวตเพื่อชี้ขาด

โดยมติข้างมาก 146 เสียง ให้ตั้ง กมธ. พิจารณาในกรอบเวลา 60 วัน ไม่เห็นด้วย 34 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง.