สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงนูกูอาโลฟา ประเทศตองกา เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ว่านายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวว ระหว่างการประชุมสุดยอดหมู่เกาะแปซิฟิก ที่ตองกา และเตือนถึงระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก “ผมมาที่ตองกาเพื่อประกาศภาวะฉุกเฉินระดับโลก ‘SOS – Save Our Seas’ เพื่อปกป้องมหาสมุทรแปซิฟิกจากภัยพิบัติทั่วโลก” กูเตร์เรสกล่าว

หมู่เกาะแปซิฟิกมีประชากรบางเบาและมีอุตสาหกรรมหนักเพียงไม่กี่แห่ง ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันน้อยกว่าร้อยละ 0.02 ของปริมาณมลพิษทั่วโลกในทุก ๆ ปี อย่างไรก็ตาม หมู่เกาะและแนวปะการังในแปซิฟิกกลับถูกคุกคามอย่างรวดเร็ว จากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกติดตั้งมาตรวัด เพื่อเฝ้าติดตามน้ำขึ้นน้ำลงที่ชายหาดของมหาสมุทรแปซิฟิก มาตั้งแต่ช่วงปี 2533 โดยพบว่าระดับน้ำทะเลบางส่วนสูงขึ้นประมาณ 15 เซนติเมตร ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ด้านค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ 9.4 เซนติเมตร “มันชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเวลาของเราในการเร่งแก้ไขสถานการณ์กำลังจะหมดลง” น.ส.เซเลสเต เซาโล เลขาธิการดับเบิลยูเอ็มโอ กล่าว

ระดับน้ำทะเลที่คิริบาส หรือคิริบาตี และหมู่เกาะคุก เท่ากับหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเพียงเล็กน้อย ขณะที่ในบางพื้นที่ เช่น เมืองหลวงของซามัว และหมู่เกาะฟิจิ มีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเกือบ 3 เท่า ส่วนที่ตูวาลู ซึ่งเป็นประเทศที่มีระดับต่ำ พื้นดินเหลือน้อยลงมากจนต้องใช้ลานจอดเครื่องบินที่สนามบินนานาชาติ เพื่อเป็นสนามเด็กเล่นชั่วคราว

ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า แม้สถานการณ์ยังไม่รุนแรงนัก แต่ตูวาลูอาจหายไปจากแผนที่โลกเกือบทั้งหมดภายใน 30 ปีข้างหน้า “มันคือหายนะครั้งแล้วครั้งเล่า และเรากำลังสูญเสียความสามารถในการฟื้นฟูและทนต่อพายุไซโคลนและอุทกภัยครั้งต่อไป” นายไมนา ทาเลีย รมว.ภูมิอากาศของตูวาลู กล่าว “สำหรับประเทศที่อยู่ต่ำ มันคือเรื่องของการเอาชีวิตรอด”

ในอดีต ความทุกข์ยากของประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิกมักถูกมองข้าม เนื่องจากหมู่เกาะเหล่านี้แยกตัวจากกันและขาดกำลังทางเศรษฐกิจ ในสายตานักวิทยาศาสตร์ ประเทศเหล่านี้กำลังส่งสัญญาณเตือนถึงปัญหาสภาพภูมิอากาศในพื้นที่อื่น ๆ ของโลก

“รายงานฉบับใหม่ยืนยันในสิ่งที่ผู้นำประเทศในแปซิฟิกเรียกร้องมาเป็นเวลาหลายปี” นายเวส มอร์แกน นักวิจัยด้านภูมิอากาศของออสเตรเลีย กล่าว โดยภาวะโลกร้อนถือเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงระดับสูงสุด ขณะเดียวกัน ประเทศต่าง ๆ ในแปซิฟิกกำลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอด และจัดการกับมลพิษเพื่อในอนาคต

ตามข้อมูลของยูเอ็น ระดับน้ำทะเลในแปซิฟิกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชากรส่วนใหญ่ต้องอาศัยให้ห่างจากชายฝั่งในระยะ 5 กิโลเมตร ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำลายแหล่งอาหารและน้ำที่สำคัญ เช่นเดียวกับน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นและภาวะเป็นกรดของมหาสมุทร ที่ค่อย ๆ ทำลายแนวปะการัง ซึ่งมีความสำคัญมากต่อห่วงโซ่อาหารในท้องทะเล.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES