ที่นิสิตนักศึกษาจะลงพื้นที่ในชุมชนใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ที่ไม่ได้โลกสวยเหมือนที่เรียนทางทฤษฎีในห้องเรียน พวกเขาจะฝังตัวพูดคุยกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งในชุมชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจ แล้วเลือกปัญหาที่ชุมชนเห็นว่าสำคัญต้องการแก้ไขเร่งด่วน นำมาปรึกษากับอาจารย์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมผ่านขบวนการ Design Thinking จนได้ต้นแบบการพัฒนา แล้วนำกลับไปทดลองจริงในพื้นที่ แล้วค่อย ๆ ปรับปรุงจนเหมาะสม แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในเวลาเดียวกันนวัตกรรมที่ค้นพบนี้จะมีศักยภาพทางการตลาด ที่สามารถพัฒนาเป็น Start Up หรือ Social Enterprise SE ได้ โดยจะสร้างรายได้ให้ชุมชน และนิสิตนักศึกษาอย่างยั่งยืน

ระหว่างได้พบปะพูดคุยกับเพื่อน ๆ ที่มาช่วยเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิรากแก้ว ภาพความหลังของโครงการนี้ก็ผุดขึ้นมาในสมองอีกครั้ง จำได้ว่าเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ในช่วงปี พ.ศ. 2548 โครงการนี้ได้ริเริ่มในเมืองไทยโดยใช้ชื่อว่า SIFE (Student in Free Enterprise) ซึ่งเป็นโครงการ CSR เพื่อสังคมของบริษัท KPMG โดยร่วมมือกับ SIFE ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลระดับโลก ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2518 มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมศักยภาพของเยาวชน ให้มีความสามารถทางการตลาด และการจัดการ โตขึ้นเป็นผู้ประกอบการที่มีจิตสาธารณะ ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นโครงการที่มีความคิดลํ้ามาก

จำได้ว่าในช่วงนั้น การนำเสนอโครงการของน้อง ๆ จะต้องทำ Pitching เป็นทีมโดยใช้ภาษาอังกฤษ ต้องผ่านด่านกรรมการที่เป็นนักธุรกิจเพื่อสังคม ช่วยกันยิงคำถามด้วยภาษาอังกฤษที่โหดมาก ทีมใดชนะถือว่ามีคุณภาพระดับโลก และทีมผู้ชนะจะได้เดินทางไปแข่งขันในเวทีนานาชาติอีกด้วย ตอนนั้นผมจำได้ว่ามีทีมจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ นายร้อย จปร.มาแข่งด้วย ผมถามน้อง ๆ ว่า โครงการที่น้อง ๆ นำเสนอมันดีมาก ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสังคม ลดความเหลื่อมลํ้า เน้นความซื่อสัตย์สุจริต ต่อต้านคอร์รัปชัน ถ้าน้องเรียนจบ เข้าไปทำงานจริงในระบบที่เป็นสีเทาไม่โปร่งใส ไม่ได้เห็นประโยชน์ของคนเล็กคนน้อย แถมถ้าอยากเติบโตในองค์กรนั้นก็ต้องทำตัวตามพี่ ๆ ต้องซื้อตำแหน่ง ต้องกลมกลืนกับวัฒนธรรมองค์กร น้อง ๆ จะต่อสู้กับองค์กรสีเทาในอนาคตของน้องอย่างไร น้อง ๆ บอกว่าผมถามไม่ตรงกับโครงการที่นำเสนอ และเขายังไม่มีคำตอบ แต่เขาสัญญากับผมว่า เขาจะเป็นคนดี และจะจำสิ่งที่พูด สิ่งที่นำเสนอในวันนี้ไว้เป็นแรงบันดาลใจในการทำความดีตลอดไป

เกือบ 20 ปีผ่านไป วันนี้ผมได้เจอน้อง ๆ ที่เคยผ่านโครงการนี้ในยุคแรก ๆ บางคนเป็นตำรวจ ทหาร ก็มียศเป็นนายร้อย นายพันแล้ว บางคนก่อตั้งบริษัทที่เป็น Start Up เป็น SE ซึ่งได้ความรู้และแรงบันดาลใจจากโครงการนี้ บางคนได้กลายเป็นพนักงานคุณภาพของ KPMG ในปัจจุบัน เมล็ดพันธุ์ที่ SIFE และ รากแก้ว ได้บ่มเพาะไว้ วันนี้ได้ทยอยออกดอกออกผล เป็นที่ประจักษ์แล้ว ปีนี้ก็เช่นกัน มีโครงการดี ๆ มากมายที่ มูลนิธิรากแก้วเป็นตัวกลางในการช่วยผลักดันโดยมีผู้ใหญ่ใจดีเช่น KPMG, SCG, ThaiBev, และอื่น ๆ ให้การสนับสนุน

จากการที่ไปร่วมเป็นกรรมการ และดูงานน้อง ๆ มีข้อคิด เพื่อการพัฒนาโครงการในปีต่อไป ดังนี้

1.การเลือกโครงการว่าจะทำอะไร ให้น่าสนใจ: มีข้อเสนอแนะว่าควรใช้เวลาอยู่ในชุมชนให้มากขึ้น พยายามเข้าใจบริบทของเขา อย่านำความคิดของเราไปใส่ ต้องคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบ่อย ๆ ให้ทั่วถึงครบทั้งชุมชน ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และภาคธุรกิจที่อยู่ใกล้เคียง โดยใช้หลัก เข้าใจ เข้าถึง แล้วค่อยพัฒนา ไม่ใช่รีบคิดพัฒนาโครงการ มีโครงการแล้วค่อยเข้าถึง สุดท้ายเข้าถึงชุมชนบ่อย ๆ จึงเข้าใจว่า มันไม่ใช่

2.ให้ความสำคัญกับขบวนการ Design Thinking: ซึ่งเป็นจุดอ่อนของการพัฒนาโครงการ What is ไม่รู้ว่าทำอะไรแน่ ทำทำไม What if ไม่ค่อยหาทางเลือกหลาย ๆ ทาง ไม่ค้นคว้าว่าปัญหานั้น ๆ มีใครคิดแก้ปัญหาแบบไหน มีผลสำเร็จ หรือล้มเหลวอย่างไร What wow ต้องให้เวลากับความคิดสร้าง เพื่อพัฒนานวัตกรรม What work หลายทีมยังไปไม่ถึงแผนธุรกิจ ที่สามารถทำได้จริง

3.ให้ความสำคัญกับการเป็นผู้ประกอบการ และแผนธุรกิจ: น่าจะเป็นจุดอ่อนของทุกทีม แม้หลายทีมจะมี Business Canvas แต่แค่เติมให้เต็ม และยังไม่เข้าใจความต้องการของลูกค้า ราคาที่เหมาะสม คู่แข่ง และการสื่อสารการตลาด ถ้าทีมใดมี นักศึกษา และอาจารย์จากคณะบริหารธุรกิจ ที่เคยทำงานกับภาคธุรกิจ จะทำได้ดี

4.อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นหัวใจสำคัญ : อาจารย์ที่ปรึกษาส่วนใหญ่มาในสายงานวิจัย ยังขาดสายการตลาด สายบริหาร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโครงการนี้ คราวหน้าถ้าเพิ่ม Train the Trainers ติดอาวุธให้เหล่าอาจารย์ที่ปรึกษา ถ้าสามารถแก้ปัญหา
นํ้าเต็มแก้วได้ จะทำให้โครงการไปได้ไกลขึ้นอีก

5.ควรเพิ่ม Mentor จากภาคธุรกิจ : โครงการแบบนี้เน้นภาวะผู้นำของผู้ประกอบการ ดังนั้นถ้ามีความร่วมมือกับภาคธุรกิจ มีผู้เชี่ยวชาญมาเติม โดยทำความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์หรือหอการค้า ให้ช่วยส่งทีม CSR และ Sustainability มาช่วย โดยไม่ต้องมีเงินบริจาคก็ได้ เอาแค่ความสามารถมาช่วยก็พอจะปิดจุดอ่อนได้

หวังว่าความคิดเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์กับโครงการแข่งขันแบบนี้ ที่มีอยู่มากในปัจจุบัน ขอแสดงความยินดีกับน้อง ๆ ทั้ง 26 ทีมที่ได้มาแข่งขันในวันนี้ และขอให้ทีมที่ชนะที่จะไปแข่งขันต่อในระดับนานาชาติคว้าถ้วยกลับมานะครับ.