‘กระแสโลกพลังงาน’ กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในความท้าทายสำคัญที่ภาคพลังงานต้องเผชิญก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ‘อุตสาหกรรมพลังงาน’ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
จากเดิมที่ธุรกิจด้านพลังงานมุ่งเน้นไปที่การผลิตพลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ทว่าปัจจุบันธุรกิจเหล่านี้ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่ทั่วโลก
‘บริษัทโฮลดิ้ง’ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อธุรกิจที่ลงทุนในภาคพลังงาน ก็จำเป็นจะต้องปรับตัวเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านพลังงานเช่นกัน โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากความรับผิดชอบต่อสังคมเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นจากภาครัฐและสหภาพยุโรป เพื่อควบคุมมลพิษและส่งเสริมพลังงานสะอาด
ดังที่ ‘บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด’ (มหาชน) ประกาศสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน และเดินหน้าผลักดันเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของบริษัทฯ โดยวางกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย
ถือเป็นการสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงาน และผลักดันเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของประเทศเป้าหมาย อีกทั้งยังเดินหน้าศึกษาโมเดลและเทคโลยีด้านพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เพื่อพัฒนาโครงการนำร่อง โดยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือนแรก (วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2567) จำนวน 1,740 ล้านบาท (0.80 บาทต่อหุ้น) ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 20 กันยายน ที่จะถึงนี้
‘นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การขับเคลื่อนเป้าหมายการเติบโตนับจากนี้ บริษัทฯ จะมุ่งเน้นไปยัง 3 เรื่องสำคัญ คือ 1. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสินทรัพย์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่เป็นแหล่งรายได้หลักและกระจายอยู่ในหลายประเทศ โดยจะนำดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการติดตามการดำเนินงานและการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าให้ดียิ่งขึ้น 2. บริหารโครงการในมือที่มีอยู่แล้วให้เสร็จตามเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันมี 15 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 1,773 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง และ 3. การลงทุนขยายธุรกิจ โดยบริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์การลงทุนให้มุ่งเน้นโครงการที่อยู่ในแนวทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศเป็นสำคัญ ได้แก่ ประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละประเทศได้กำหนดกรอบการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ครอบคลุมกำลังการผลิตพลังงานทดแทนและเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ
“ในปีนี้ เราได้ทบทวนและกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ แน่นอนว่ายังคงเน้นไปที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงาน พร้อมทั้งวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลกและประเทศ รวมถึงศักยภาพและขีดความสามารถของบริษัทฯ ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น จะให้ความสำคัญกับโครงการประเภทกรีนฟิลด์และบราวน์ฟิลด์มากขึ้น โดยจะเข้าร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศเป้าหมาย ซึ่งประเทศไทยและอินโดนีเซีย มีโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และก๊าซธรรมชาติ สปป. ลาว มีศักยภาพที่จะลงทุนด้านพลังงานน้ำเพื่อส่งจำหน่ายให้กับประเทศไทย ส่วนออสเตรเลียมีศักยภาพพัฒนาโครงการพลังงานลม แสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงาน และโครงการประเภท Synchronous Condenser ที่ต่อยอดจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เราเชื่อมั่นว่าการดำเนินตามแนวทางแผนกลยุทธ์ที่วางไว้จะทำให้ ราช กรุ๊ป เดินหน้าไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและสามารถขยายธุรกิจสร้างการเติบโต ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นิทัศน์ กล่าว
นอกจากนี้ ราช กรุ๊ป ยังได้เริ่มศึกษาโมเดลการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ และเทคโนโลยีพลังงานอนาคต ที่สามารถต่อยอดจากสินทรัพย์และศักยภาพความสามารถของบริษัทฯ ที่มีอยู่แล้ว อย่าง ‘โครงการกรีนไฮโดรเจน’ ได้ร่วมกับ ‘BIG’ ในการพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานทดแทนจากโครงการของบริษัทฯ ที่มีอยู่ในประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย เพื่อจำหน่ายภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และการผลิตไฟฟ้าในอนาคต, ‘ระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่’ ซึ่งบริษัทย่อยในออสเตรเลียกำลังศึกษาโครงการขนาด 100 MW/200 MWh ในรัฐนิวเซาท์เวลส์, ‘โครงการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดโดยตรง’ ในประเทศไทย ซึ่งกำลังร่วมกับพันธมิตรศึกษาโครงการนำร่องในนิคมอุตสาหกรรม และ ‘การผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ขนาดเล็ก’ ก็ได้ร่วมกับพันธมิตรทำการศึกษาเทคโนโลยี กฎระเบียบ และประเมินผลกระทบด้านต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยสูงหากมีการนำมาใช้