เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ ภายหลังประชุมติดตามสถานการณ์ ว่า ขณะนี้พยากรณ์อากาศรายงานว่า ฝนเริ่มตกน้อยลง น้ำที่ท่วมภาคเหนือก็เริ่มลดระดับลง แต่มวลน้ำจะเริ่มมาหนักที่สุโขทัย ในเส้นทางน้ำไหลของแม่น้ำยมสายหลัก มีตลิ่งพังหลายจุด น้ำไหลเข้าท่วมทุ่งนา สิ่งเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ธรรมชาติทำร้ายเราอย่างรุนแรง ซึ่งก็ต้องร่วมกันพัฒนาพื้นที่และต่อสู้ไปให้ได้ สำหรับข้อสั่งการด้านสาธารณสุข มีการประชุมตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. เตรียมพร้อมสถานการณ์ดูแลรักษาช่วยเหลือ โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียง ทางสาธารณสุขจังหวัด อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกันอพยพช่วยเหลือผู้ป่วย มาที่ศูนย์ดูแลรวม เช่น วัดที่คลองยาง อ.สววรคโลก นอกจากนี้ ยังมีระบบในการโฟกัสกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วย ที่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายออกว่าอยู่ที่ไหน โดยทำเป็นแผนที่ผู้ป่วยที่เรียกว่า Thailand health atlas นอกจากสุโขทัยแล้ว ที่น้ำจะไปคือที่พิษณุโลก ซึ่งจะมีเลือกตั้งซ่อม การจะเข้าไปอะไรต้องดูให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจจะมีปัญหาร้องเรียนได้ 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตนเห็นด้วยกับรักษาการนายกรัฐมนตรีว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมต้องมองภาพรวม เพราะแต่ก่อนเราแก้ปัญหาไม่ตรงจุด อย่างจังหวัดสุโขทัย แม่น้ำยมเล็กนิดเดียว แต่กลับต้องมาทำน้ำยมฝั่งขวา และฝั่งซ้ายเพิ่ม และจากแม่น้ำยมไปแม่น้ำน่าน ทำ 3-4 อย่าง ต้องใช้เงินกว่าหมื่นล้านบาท แต่ก็ยังแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้  ทำไมไม่สร้างเขื่อนใหญ่ต้นแม่น้ำยม ซึ่งใช้เงินน้อยกว่า ราวๆ 4-5 พันล้านบาท แก้ได้หมด วันนี้หากฝนตกมาเยอะ น้ำไปกองรวมที่ใดที่หนึ่ง จะรวมที่สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา หรือกรุงเทพมหานคร ความเสียหายเกิดขึ้นมหาศาล เช่น 10 กว่าปีที่แล้ว ความเสียหายเป็นล้านล้านบาท

“เพราะความไม่เข้มแข็งของการเมืองหรือเปล่า ที่ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ ติดบ้านเรือน ติดเวนคืน อาคารสถานที่ต่างๆ พาให้เราต้องเสียเงินทางอ้อมหลายเท่าของการแก้ปัญหา ถ้าเราช่วยกันคิด เปล่งเสียงออกมาให้พร้อมกันในการแก้ปัญหาให้ตรงจุด จะใช้เงินน้อยมา แต่ถ้าไปอ้อมๆ อย่างนี้ ทุกคนได้รับผลกระทบทั้งนั้น งบประมาณถูกใช้ไปโดยไม่ตรง” นายสมศักดิ์ กล่าว

ด้าน นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ล่าสุดมีสถานพยาบาลได้รับผลกระทบ 26 แห่ง อยู่เขตสุขภาพที่ 1 และ 2 ส่วนใหญ่เป็นเขตสุขภาพที่ 1 เป็นสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) โรงพยาบาล 3 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 19 แห่ง มีปิดไป 14 แห่ง แต่ส่วนใหญ่เป็น รพ.สต. ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน

ขณะที่ นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย ผอ.กองสาธารณสุขฉุกเฉิน กล่าวระหว่างการประชุมว่า ขณะนี้มีสถานการณ์อยู่ประมาณ 6 จังหวัด โดย จ.สุโขทัย ดูมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำถือว่าน้ำมากแต่ยังไม่เข้าสู่ “ลานีญา” ที่อาจจะต้องมีฝนมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชาชนกังวลว่าจะเหมือนน้ำท่วมปี 2554 นั้น จากการเทียบสถานการณ์เดือน ส.ค. ปีนี้กับ ส.ค. ปี 2554 พบว่า ปัจจุบันน้ำยังน้อยกว่าประมาณ 7 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนรายงานตัวเลขผู้ป่วยในพื้นที่น้ำท่วมว่า มีผู้ป่วยติดเตียง 457 ราย ผู้ป่วยพิการ 4 ราย หญิงตั้งครรภ์ 10 ราย การสนับสนุนปีนี้ 1,000 ชุดจากส่วนกลาง ปีที่แล้ว 32,000 ชุด จะเตรียมให้ไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว ยามีทั้งแพทย์แผนไทยและยาชุดน้ำท่วม องค์การเภสัชกรรม ทั้งนี้จากข้อสั่งการ รมว.สาธารณสุข เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งได้สรุปมาตรการหลังเกิดเหตุ ได้ยกระดับเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากอุทกภัยหลังน้ำลด ซึ่งจากประวัติที่ผ่านมา ต้องระวังเรื่องฉี่หนู เพราะเป็นโรคที่ค่อนข้างมากในพื้นที่ภาคเหนือ ตอนนี้จังหวัดทางภาคเหนือ ได้ประสานขอรับยา Doxycycline (ด็อกซีไซคลิน) ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อโรคฉี่หนู มาบางส่วน ขณะที่ส่วนกลางจะสนับสนุนไปให้ประมาณ 20,000 ชุด