“เดอะ โคเรีย ไทม์ส” รายงานเมื่อไม่นานมานี้ ว่าองค์การท่องเที่ยวเกาหลี (เคทีโอ) เปิดเผยสถิตินักท่องเที่ยวไทยเยือนเกาหลีใต้ มีจำนวนเพียง 20,150 คน เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ลดลง 19.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเป็นสถิติการลดลงเดือนที่ 7 ติดต่อกัน เฉพาะของนักท่องเที่ยวไทยซึ่งเยือนเกาหลีใต้

ขณะที่สถิตินักท่องเที่ยวไทยเยือนเกาหลีใต้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ หรือระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 168,328 คน ลดลง 19.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว สวนทางกับสถิติการเยือนเกาหลีใต้โดยรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งมีจำนวน 1.41 ล้านคน เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นมากถึง 47.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

อนึ่ง ก่อนเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ข้อมูลของเคทีโอระบุว่า นักท่องเที่ยวไทยเป็นชาติจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเดินทางไปเยือนเกาหลีใต้มากที่สุด โดยสถิติอยู่ที่ 572,000 คน เมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นอานิสงส์จากวัฒนธรรมเค-ป๊อป เป็นหลัก

ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวไทยเยือนเกาหลีใต้ลดลง เกี่ยวเนื่องกับระบบคัดกรองการเดินทางออนไลน์ของเกาหลีใต้ ที่ใช้ “กลั่นกรอง” ชาวต่างประเทศซึ่งประสงค์เดินทางเข้าไปในเกาหลีใต้ Korea Electronic Travel Authorization หรือ K-ETA ที่เกาหลีใต้เริ่มใช้เมื่อเดือน ก.ย. 2564 กับนักเดินทางจาก 112 ประเทศ เพื่อลงทะเบียนล่วงหน้า ในการขอรับการอนุมัติให้เดินทางเข้าเกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม ชาวไทยจำนวนมากกลับถูกปฏิเสธการเดินทาง และจุดชนวนให้เกิดกระแสต่อต้านเกาหลีใต้ในที่สุด

ทั้งนี้ทั้งนั้น มีรายงานด้วยว่า กระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีใต้เคยประสานงานไปยังกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้มีการพิจารณายกเว้นการลงทะเบียน K-ETA สำหรับนักเดินทางจากไทยจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยให้เยือนเกาหลีใต้ และเพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย ต้อนรับนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคนในปีนี้

กระนั้น กระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า พลเมืองไทยครองสัดส่วน “ผู้อพยพไม่มีสถานะทางกฎหมาย” มากที่สุดในประเทศ ส่งผลให้กระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีใต้ หันไปส่งเสริมโครงการการเดินทางเยือนเพื่อการศึกษา สำหรับชาวไทยอายุไม่เกิน 17 ปีแทน เนื่องจากไม่ต้องลงทะเบียน K-ETA และส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ชาวไทยอีกหลายคน.

เครดิตภาพ : AFP