เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นายสมศักดิ์ วัฒนปฤดา ผอ.กองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำป่าไหลหลากและแผ่นดินถล่ม  ว่า พื้นที่ในประเทศไทยที่มีความเสี่ยงต่อน้ำป่าไหลหลากและแผ่นดินถล่ม ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มระดับปานกลางถึงสูงมาก ครอบคลุม 1,984 ตำบลทั่วประเทศ โดยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ลาดชันตั้งแต่ 20-60 องศา มีพืชปกคลุมดินน้อย และตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยมีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อ 24 ชั่วโมง นอกจากปัจจัยทางธรรมชาติแล้ว การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่เหมาะสมยังเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น การแผ้วถางเปิดหน้าดินเพื่อพัฒนาบนที่สูง ทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน รวมถึงการทำเกษตรกรรมที่ปลูกพืชที่ไม่มีรากแก้วลึก เช่น ยางพาราและสวนผลไม้ ซึ่งไม่สามารถยึดเกาะดินได้ดีเมื่อดินขาดเสถียรภาพ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินถล่มในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 5 ภูมิภาค ดังนี้ ภาคเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ 80,274 ตร.กม. ใน 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี  สาเหตุหลัก ลักษณะลุ่มน้ำและทางน้ำย่อยหลายสายมารวมกัน ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม สภาพทางธรณีวิทยาที่ผุพังของหินตะกอนในพื้นที่ที่มีความสูงชันใกล้กับแนวรอยเลื่อนส่งผลต่อเสถียรภาพของดิน การขยายตัวของชุมชนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่ม อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และพายุหมุนเขตร้อน

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ภาคใต้ ครอบคลุมพื้นที่ 22,859 ตร.กม. ใน 14 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล นราธิวาส ปัตตานี และยะลา  สาเหตุหลัก ลักษณะลุ่มน้ำและทางน้ำ ส่งผลให้เกิดลักษณะดินถล่มชนิดเศษวัสดุธรณีไหล (Debris flow) สภาพทางธรณีวิทยาที่ผุพังของหินอัคนี และหินตะกอน ในพื้นที่ที่มีความสูงชันใกล้กับแนวรอยเลื่อนการขยายตัวของชุมชนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่ม อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และพายุหมุนเขตร้อน ส่วนภาคตะวันออก  ครอบคลุมพื้นที่ 4,700 ตร.กม. ใน 8 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี สระแก้ว และนครนายก  สาเหตุหลัก ลักษณะลุ่มน้ำและทางน้ำจากเทือกเขาสูง ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มในบางพื้นที่ (Debris flow) การขยายตัวของชุมชนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่ม อิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อน

ผอ.กองธรณีวิทยาฯ กล่าวอีกว่า ส่วนภาคกลาง  ครอบคลุมพื้นที่ 15,991 ตร.กม. ใน 7 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสุพรรณบุรี สาเหตุหลัก ลักษณะลุ่มน้ำที่มีทางน้ำหลายสายมารวมกัน และการขยายตัวของชุมชน  ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ 11,844 ตร.กม. ใน 9 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี สาเหตุหลัก ลักษณะลุ่มน้ำที่เอื้อต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และการขยายตัวของชุมชน

ทั้งนี้การเฝ้าระวังและการจัดการพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างเหมาะสมใน 1,984 ตำบลที่มีความเสี่ยง รวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่เหล่านี้ จะช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำป่าไหลหลากและแผ่นดินถล่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเตรียมพร้อมรับมือและลดผลกระทบจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น.