ได้ร่วมเปิดตัวโครงการยกระดับมาตรฐานซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า และการเสวนาหัวข้อการเตรียมพร้อมของประเทศไทยในการเข้าร่วมข้อตกลงระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก

“ภราดร จุลชาต” ประธาน PPP Plasticsเปิดเผยว่า PPP Plastics ได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมการจัดการขยะอย่างยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องมากว่า 6 ปี ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติเชิงพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมส่งเสริมการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายในการลดขยะพลาสติกทะเลลงไม่ต่ำกว่า 50% ภายในปี 70 ภายใต้การดำเนินการ 6 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านนโยบาย 2. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 3. ด้านนวัตกรรม 4. ด้านการศึกษาและการสื่อสาร 5. จัดทำฐานข้อมูล 6. บริหารจัดการงบประมาณ

ยกระดับฐานข้อมูลซาเล้ง

“ภรณี กองอมรภิญโญ” PPP Plastics Communication Taskforce Leader กล่าวว่า PPP Plastics มุ่งมั่นที่จะสร้างรากฐานที่จำเป็นสำหรับการสร้างระบบนิเวศเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของพลาสติก ปีนี้ได้เปิดตัวโครงการยกระดับมาตรฐานซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า โดยมีผู้บริหารจากองค์กรภาคีเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ เช่น หน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย PPP Plastics กรมควบคุมมลพิษกรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า และองค์กรภาคธุรกิจที่ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานโครงการฯ ได้แก่ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์, กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย, บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย), บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทยเทรดดิ้ง, บริษัท ไทยนํ้าทิพย์ คอร์ปอเรชั่น เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

สำหรับโครงการยกระดับมาตรฐานซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการลงทะเบียนทั้งซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ยกระดับมาตรฐานของซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยวิชาชีพ การดำเนินธุรกิจและสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้เครื่องมือ อุปกรณ์และสร้างสถานที่ทำงานเพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม และคู่มือการเสริมสร้างศักยภาพซาเล้ง ขับเคลื่อนลานรับซื้อของเก่ากับศูนย์คัดแยกและจัดการวัสดุ โดยตั้งเป้าจะมี ซาเล้งมาขึ้นทะเบียนและอบรม 300 รายในพื้นที่กรุงเทพฯ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเห็นผลชัดเจนปี 68

ช้าไม่ได้กติกาโลกบีบใช้ปี 68

ด้าน “ปรีญาพร สุวรรณเกษ” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า มลพิษจากพลาสติก เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ปัจจุบันโลกกำลังให้ความสำคัญ รองจากเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปี 68 องค์การสหประชาชาติกำลังให้มีอนุสัญญามลพิษพลาสติกขึ้น และอาจจะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตพลาสติก ที่จะต้องมีการผลิตพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้จำหน่ายที่จะต้องเริ่มมีการจำกัดหรือควบคุมการแจกจ่ายบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว นอกจากนี้ผู้บริโภคจะต้องมีความตระหนักในการใช้พลาสติกอย่างรู้คุณค่า และแยกประเภทขยะให้ถูกต้อง รวมทั้งผู้เก็บรวบรวมขยะที่จะต้องนำกลับคืนขยะรีไซเคิลทุกประเภทเหล่านี้เพื่อนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป

“วิจารย์ สิมาฉายา” ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า PPP Plastics พร้อมเดินหน้าสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติกให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งตอบสนองต่อทิศทางนโยบายทั้งระดับประเทศและระดับโลกที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (EPR) กฎหมายเศรษฐกิจหมุนเวียน มาตรฐาน PCR และข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยในการขับเคลื่อนงานในอนาคต PPP Plastics จะจัดตั้งเป็นสมาคม PPP Plastics เพื่อให้สามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขยะพลาสติกฆาตกรสัตว์ทะเล

“ปิ่นสักก์ สุรัสวดี” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ทะเลและชายฝั่งเป็นแหล่งของทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญ แต่ปัจจุบันมนุษย์ได้สร้างมลพิษ โดยเฉพาะขยะทะเลชนิดขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางทะเล เช่น แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล สัตว์ทะเลชนิด ต่าง ๆ ทั้งเต่าทะเล โลมา วาฬ และพะยูน รวมถึงสัตว์ทะเลที่เป็นอาหารของมนุษย์ ขยะพลาสติกเหล่านี้จะกลายเป็นไมโครพลาสติกซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ต่อไป ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่สามารถรอเวลาได้ หน่วยงานต่าง ๆ ต้องลงมือปฏิบัติและจัดการอย่างเป็นรูปธรรมแบบบูรณาการเพื่อให้การแก้ปัญหาขยะพลาสติกประสบความสำเร็จและยั่งยืน

“ฐิติธัม พงศ์พนางาม” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจไม่สามารถมองประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมด้วยมุมมองเชิงธุรกิจเพียงอย่างเดียว เราทุกคนต่างตระหนักว่าเป็นความรับผิดชอบที่จะช่วยกันดูแลและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การพยายามแก้ปัญหาเรื่องพลาสติกโดยการใช้วัสดุอื่นมาทดแทนยังไม่นับเป็นทางออกที่ยั่งยืน แต่กระบวนการรีไซเคิลและการผลักดันให้เกิดการหมุนเวียนของพลาสติกคือคำตอบของปัญหาเหล่านี้.