สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ว่า รัฐบาลตาลีบัน ประกาศการประมวลกฎหมาย 35 มาตรา ซึ่งมีรายละเอียดครอบคลุมพฤติกรรม และข้อจำกัดในการใช้ชีวิต โดยยึดตามการตีความกฎหมายชารีอะห์อย่างเคร่งครัด

อนึ่ง กฎหมายดังกล่าวกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม ตั้งแต่การตักเตือนด้วยวาจา ไปจนถึงการขู่เข็ญ, การปรับเงิน และการกักขัง ซึ่งบังคับใช้โดยตำรวจศีลธรรม ภายใต้กระทรวงส่งเสริมคุณธรรมและป้องกันความชั่วร้าย หรือเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “กระทรวงศีลธรรม” หรือ “กระทรวงคุณธรรม”

“มันเป็นภาพที่น่ากังวลสำหรับอนาคตของอัฟกานิสถาน ซึ่งผู้ตรวจสอบมีอำนาจตามดุลพินิจในการข่มขู่และคุมขังผู้ใดก็ตาม โดยพิจารณาจากรายการการกระทำผิดที่กว้างขวาง และคลุมเครือในบางกรณี” นางโรซา โอตุนบาเยวา ผู้อำนวยการภารกิจให้ความช่วยเหลือของยูเอ็นประจำอัฟกานิสถาน (ยูนามา) กล่าว

ทั้งนี้ โอตุนบาเยวา กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายใหม่ของกลุ่มตาลีบัน ขยายข้อจำกัดที่ “ยอมรับไม่ได้อยู่แล้ว” เกี่ยวกับสิทธิของสตรีและเด็กผู้หญิงชาวอัฟกัน ซึ่งระบุว่า ผู้หญิงต้องปกปิดใบหน้าและร่างกาย หากพวกเธอออกจากบ้าน และห้ามส่งเสียงให้ได้ยินเป็นอันขาด เนื่องจากถือว่าเป็นการละเมิดศีลธรรม

แม้ยูเอ็นแสดงความกังวลเกี่ยวกับข้อจำกัดด้านศาสนา และเสรีภาพของสื่อในกฎหมาย ซึ่งกำหนดไว้ว่า สื่อต้องไม่เผยแพร่เนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายชารีอะห์และศาสนาอิสลาม หรือเนื้อหาที่แสดงให้เห็นสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตาม หน่วยงานระบุว่า กฎหมายของรัฐบาลตาลีบัน ยังคงมีมาตราเชิงบวก เช่น การห้ามปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมต่อเด็กกำพร้า.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES