กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนทางวิชาการ ในงานการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อขจัดความยากจนหลากหลายมิติของเด็กและเยาวชนในจังหวัดอุบลราชธานี”  โดยมี นายชัชวาลย์ เบญจสิริพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน และร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน ซึ่งมี นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน  รองศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และรองศาสตราจารย์ธรรมรักษ์ ละอองนวล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นผู้ลงนาม ซึ่งมีภาคีหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ที่มีภารกิจรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และการขจัดความยากจนของคนในทุกช่วงวัย จำนวน 27 หน่วยงาน รวมจำนวน 120 คน  ณ ห้องทับทิมสยาม 5 โรงแรมสุนีย์แกรนด์ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา

นางอภิญญา กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายในการสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคม การพัฒนา และคุ้มครองพิทักษ์สิทธิและการให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กในทุกช่วงวัย เพื่อให้เอื้อต่อการเลี้ยงดูเด็ก ตลอดจนสร้างเด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องบูรณาการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมจัดการแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชน ให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนขจัดความยากจนหลากหลายมิติ ยกระดับการพัฒนากระบวนการทำงานบูรณาการ ทั้งงานสวัสดิการสังคมและการพัฒนาสังคม พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ระยะ 3 ปี ระดมความเห็นเพื่อเป็นประเด็นสำหรับการจัดทำโครงการวิจัย นวัตกรรม การพัฒนาฐานข้อมูล บริการวิชาการ บูรณาการทำงาน ร่วมกับภาคีหุ้นส่วนทางสังคม ซึ่งมีหน่วยงานกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นหน่วยงานหลักมีภารกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และการขจัดความยากจนของคนในทุกช่วงวัย ด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้านการศึกษา ด้านสวัสดิภาพ ด้านสุขภาพ และด้านสภาพแวดล้อมหรือมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งมีอาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย เข้าร่วมงานครั้งนี้ 

ด้าน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยนักวิจัยได้ร่วมการเสวนา ความร่วมมือเพื่อขจัดความยากจนหลากหลายมิติของเด็กและเยาวชน ในจังหวัดอุบลราชธานี หัวข้อ “ตัวอย่างที่ดี (Best Practice) จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ขจัดความยากจน ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ เข้าร่วม ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้ดำเนินรายการ ส่วนการประชุมหารือกลุ่มย่อย กลุ่มที่ 1 การจัดทำฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อธิพงศ์ สุริยา ผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นวิทยากรกลุ่ม และกลุ่มที่ 2 การพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนตามช่วงวัย มี รองศาสตราจารย์ ดร.กานต์ตะรัตน์ วุฒิเสลา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักเกียรติ จิตคติ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นวิทยากรกลุ่ม นับว่าความร่วมมือครั้งนี้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียน ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่สังคม” และตัววัดเป้าหมาย ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เน้นการพัฒนาที่ครอบคลุม เน้นการนำไปปฏิบัติและแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่น อาทิ SDG1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ SDG3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย SDG4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ SDG11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน เป็นต้น