เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย นพ.เกรียงไกร นามโธสง ผอ.นพ.นพรัตนราชธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมประจำวัน ยังศูนย์ปฏิบัติการกรณีติดตามกลุ่มผู้ป่วยจากเคสดื่มสุรา ยาดองเถื่อน โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 08.00 น. ที่ผ่านมา มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดจนถึงขณะนี้ 27 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตรายใหม่ 1 ราย สะสมชีวิต 2 ราย  และยังอยู่ระหว่างการรักษา 25 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ 13 ราย ผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต 18 ราย หากจำแนกผู้ป่วยตามระดับความรุนแรงในผู้ป่วยทั้ง 5 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงสีแดง 13 ราย ผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเหลือง 3 ราย และกลุ่มอาการสีเขียว 9 ราย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ รพ.นพรัตนราชธานี 16 ราย รพ.นวมินทร์ 9 อีก 9 ราย และที่ รพ.เสรีรักษ์ รพ.เกษมราษฎร์รามคำแหง รพ.นวมินทร์ และ รพ.ราชวิถี 1 ราย ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุช่วงระหว่าง 22-69 ปี มีอาการเจ็บป่วยโดยส่วนใหญ่พบภาวะเลือดเป็นกรด 21 ราย หายใจเหนื่อย 19 ราย ภาวะไตวาย 16 ราย ตาพร่ามัว 14 ราย ชัก 4 ราย หมดสติ 4 ราย  และไม่มีอาการใดใด 7 ราย

“ผู้ป่วยที่เข้ามาใหม่นั้น มีรายที่เพิ่งดื่มยาดองที่มีการผสมสารเมทานอลเข้าไปใหม่ก็มี เพราะบางคนซื้อไปเก็บไว้แล้วเพิ่งดื่ม ซึ่งขณะนี้เราได้มีการเปิดจุดคัดกรอง 3 จุด คือ ที่หนองจอก นพรัตน์ คลองสามวา ล่าสุดคือที่ รพ.นวมินทร์ 9 และมีการสอบสวนโรคเพิ่มเติม” นพ.ไพโรจน์ กล่าว

นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่กรุงเทพฯ อาทิ สำนักงานเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร/สรรพสามิตพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ลงพื้นที่ตรวจสอบ และติดตามกลุ่มผู้ซื้ยาดองจากร้านดังกล่าว ที่มีการแบ่งไปจำหน่ายใน 18 ร้านย่อย พร้อมขอให้ประชาชนที่คาดว่าจะซื้อยาดองจากร้านที่พบมีส่วนผสมของเมทานอล ให้สังเกตอาการหลังดื่มดื่มยาดอง ในระยะเวลา 8-24 ชั่วโมง หากมีอาการวิงเวียนศีรษะอาเจียนตาพร่ามัว ให้รีบเข้าพบแพทย์โดยทันที ซึ่งจะแตกต่างจากการมึนเมาการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งจะเริ่มมีอาการในช่วงที่ดื่ม

เมื่อถามถึงการรักษาเรื่องการมองเห็น นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการหาแนวทางรักษาร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายฝ่าย ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดว่า จะกลับมามองเห็นได้เหมือนเดิมหรือไม่ ทั้งนี้ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยจากการดื่มเหล้าเถื่อน ประมาณ 50-100 ราย แต่ส่วนใหญ่อาการไม่ได้รุนแรง เนื่องจากเป็นการดื่มแอลกอฮอล์ที่มีเมทานอลที่เกิดจากการกลั่นสุราเอง

ส่วนในครั้งนี้พบว่าเมทานอลที่พบ เป็นลักษณะที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม และมีปริมาณสูงถึงประมาณ 1 แสน PPM ซึ่งมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (พ.ศ. 2516) กำหนดไว้ว่า ปริมาณเมทานอลในสุราทุกประเภท จะต้องไม่มีอยู่เลย ในส่วนการติดตามควบคุมโรค ทาง กองโรคระบาด กรมควบคุมโรค ได้ร่วมลงพื้นที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมและติดตามผู้ซื้อยาดองจากร้านดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ 6 เขต ของกรุงเทพฝั่งตะวันออก.