สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ว่า ค่าเงินจ๊าดร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดที่ 7,500 จ๊าด (ราว 121 บาท) ต่อดอลลาร์สหรัฐ จาก 5,000 จ๊าด (ราว 80 บาท) เมื่อต้นเดือนนี้ หลังมีรายงานว่า รัฐบาลทหารเมียนมาพิมพ์เงินจ๊าดเพิ่มเพื่อพยุงค่าเงิน

“ผู้คนต่างพากันซื้อและขายเงินบาทไทยอย่างบ้าคลั่ง” ตัวแทนโอนเงินในไทยให้ข้อมูล ซึ่งผู้ขายเหล่านี้ ได้แก่ชาวเมียนมาที่ส่งเงินบาทกลับประเทศ

แม้ค่าเงินจ๊าดจะฟื้นตัวขึ้นมาถึง 6,000 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐ (ราว 97 บาท) ในตลาดมืด ขณะที่อัตราอ้างอิงอย่างเป็นทางการของธนาคารกลางเมียนมา อยู่ที่ 2,100 จ๊าด (ราว 33 บาท) และอัตราซื้อขายออนไลน์อยู่ที่ 3,400 จ๊าด (ราว 55 บาท) แต่ราคาสินค้ายังคงไม่ลดลง

แม่บ้านวัย 27 ปีจากกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของประเทศ กล่าวว่า “เมื่อเดือนที่แล้ว ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอยู่ที่ราว 25,000 จ๊าดต่อสัปดาห์ (ราว 404 บาท) แต่ตอนนี้อยู่ที่ราว 40,000 จ๊าด (ราว 647 บาท)” หลังตลาดชายแดนที่มีแนวโน้มไปได้ด้วยดี ต้องเผชิญกับความรุนแรงหลังรัฐประหาร ซึ่งจุดชนวนให้นักลงทุนหนีออกจากประเทศ และการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ระบุเมื่อเดือน มิ.ย. ว่าความยากจนในเมียนมาแพร่หลายมากกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา และการเติบโตทางเศรษฐกิจ น่าจะยังคงอยู่ที่ร้อยละ 1 ในปีงบประมาณปัจจุบัน

“มันเกิดจากนโยบายเศรษฐกิจและการตัดสินใจของรัฐบาลร้อยละ 100” นายเดวิด มาธีสัน นักวิเคราะห์ของเวิลด์แบงก์ กล่าว โดยอ้างถึงเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและปัญหาเศรษฐกิจอื่น ๆ ซึ่งเกิดจากมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน และมาตรการทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดเกินไปของรัฐบาลทหารเมียนมา

ร้านขายของชำ 2 แห่งให้ข้อมูลว่า ค่าเงินที่ตกต่ำ ส่งผลให้ต้นทุนของสินค้านำเข้าพุ่งสูงขึ้น ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมไปถึงสิ่งจำเป็น เช่น น้ำมันปรุงอาหารที่นำเข้ามาจากไทย โดยราคาสินค้าซึ่งพุ่งสูงขึ้น 2-3 เท่า เป็นผลมาจากต้นทุนการขนส่ง

มากไปกว่านั้น ยารักษาโรคต่าง ๆ รวมไปถึงแถบวัดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน มีราคาแพงขึ้นร้อยละ 10-30 ในช่วงเดือนที่ผ่านมา และยารักษาโรคบางชนิดยังคงมีจำกัด เนื่องจากจากการสู้รบที่ยังคงดำเนินอยู่ ส่งผลกระทบต่อการค้าตามแนวชายแดน

รัฐบาลแห่งชาติ (เอ็นยูจี) ซึ่งประกอบด้วยอดีตสมาชิกรัฐสภาและฝ่ายค้านที่ต่อต้านการรัฐประหาร วิจารณ์ว่า กองทัพไม่มีแผนการที่เหมาะสม ในการจัดการกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน “พวกเขาไม่มีระบบใด ๆ และกำลังพิมพ์เงินจ๊าดเพิ่ม ซึ่งเป็นการ “เติมเชื้อเพลิง” ให้กับเงินเฟ้อ และสร้างวิกฤติเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน” โฆษกเอ็นยูจีกล่าว.

เครดิตภาพ : AFP