สำนักข่าวซินหัวรายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ว่า การเปลี่ยนแปลงจากสภาพระบบนิเวศอาร์กติกไปเป็นระบบนิเวศกึ่งอาร์กติกนั้น มีแนวโน้มว่าเกิดจากฝีมือมนุษย์ถึง 98% ซึ่งผลลัพธ์อันเลวร้ายได้ทำให้ปูหิมะอะแลสกาหายไปราว 10,000 ล้านตัว ระหว่างปี 2561-2564 ขณะที่อุตสาหกรรมนี้ มีมูลค่าหายวับเหลือเพียงศูนย์ จากเดิม 227 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,690 ล้านบาท)


คณะนักวิจัยกล่าวไว้ในผลการศึกษาครั้งก่อน ว่าคลื่นความร้อนในน่านน้ำทะเลเบริง อาจไปเร่งกระบวนการเผาผลาญของปู และเมื่อไม่มีแหล่งอาหารเพียงพอที่จะชดเชย เหล่าปูหิมะอะแลสกาจึงอดอาหารตาย


ศูนย์วิทยาศาสตร์การประมงรัฐอะแลสกา ให้ความเห็นว่า สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้นคือ สภาพแวดล้อมแบบอาร์กติกที่เอื้อให้ปูหิมะเป็นชนิดพันธุ์เด่นในทะเลเบริง ทางตะวันออกเฉียงใต้ จะลดลงอย่างต่อเนื่องในอนาคต


จำนวนปูหิมะอะแลสกาลดลงมากถึง 92% หรือราว 10,000 ล้านตัว ระหว่างปี 2561-2564 สวนทางกับประชากรปูหิมะอะแลสกาที่อุดมสมบูรณ์ในช่วงหลายปีก่อนหน้านั้น ซึ่งสร้างความงุนงงอย่างมากให้กับบรรดานักวิทยาศาสตร์ และชาวประมง

ทั้งนี้ อุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและน้ำแข็งในทะเลที่ละลายหายไป ระหว่างปี 2561-2562 ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการอยู่รอดของปูหิมะอะแลสกามากขึ้นเรื่อย ๆ แม้อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนั้น ดูเหมือนจะไม่ส่งผลกระทบต่อปูหิมะอะแลสกามากนัก แต่มันกลับส่งผลต่อการเผาผลาญทำให้ปูหิมะอะแลสกาต้องการสารอาหารมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กลับไม่มีเหยื่อให้พวกมันล่าอย่างเพียงพอ.