เมื่อวันที่ 25 ส.ค. นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา โฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงกรณีอุโมงค์รถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) ไทย-จีนถล่ม รวมถึงตรวจสอบสัญญาจ้างต่างๆ อย่างละเอียด ขณะเดียวกันจะจัดทำสมุดพกตัดคะแนนผู้รับเหมา ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าร่วมประมูลงานอื่นๆ ในอนาคต โดยเน้นย้ำผู้รับเหมาต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำอีกอย่างเด็ดขาด หากเกิดซ้ำจะมีบทลงโทษขั้นสูงสุดต่อไป เพื่อต้องการให้ผู้ประกอบการที่ดูแลรับผิดชอบโครงการฯ มุ่งเน้นด้านความปลอดภัยสูงสุด

นายกฤชนนท์ กล่าวต่อว่า ขณะที่โครงการอื่นๆ ของกระทรวงคมนาคมนั้น จะคุมเข้มเรื่องการกลั่นกรองผู้รับเหมามากขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่มีความซับซ้อน และโครงการที่ต้องใช้เทคนิคพิเศษ ซึ่งต้องใช้ความชำนาญครอบคลุมในทุกมิติ อีกทั้งการเข้าประมูลงานของรัฐนั้น ไม่ใช่เพียงว่าเป็นผู้รับเหมาชั้นพิเศษจะสามารถเข้าร่วมประมูลได้ แต่จะมีการตรวจสอบเชิงเทคนิคของบริษัทที่จะเข้ารับงานอย่างละเอียด และต้องให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย รวมถึงต้องไม่เกิดเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้วย

ด้านนายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยความคืบหน้าการช่วยเหลือคนงานที่ติดอยู่ภายในอุโมงค์รถไฟไฮสปีดถล่มระหว่างการก่อสร้างเมื่อคืนวันที่ 24 ส.ค. ว่า ขณะนี้ทีมกู้ภัยของ รฟท. ได้เข้าเร่งระดมความช่วยเหลือขุดดินภายในอุโมงค์อย่างเร่งด่วนที่สุด โดยมีผู้เชี่ยวชาญควบคุมการสั่งการเพราะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางธรณีวิทยา และเทคนิคการก่อสร้างอุโมงค์เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน

โดยเมื่อเวลา 17.00 น. วันนี้ (25 ส.ค.) ทีมกู้ภัยสามารถขุดเปิดดินส่วนบนที่ทรุดตัวภายในอุโมงค์ออกได้บางส่วนแล้ว และกำลังเร่งสอดท่ออากาศที่ใช้ในการปั๊มออกซิเจนเข้าไปภายในบริเวณที่คนงานติดอยู่ ซึ่งเหลือระยะทางอีกประมาณ 20 เมตร โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ชม. หลังจากนั้นจะสอดท่อช่วยชีวิต ขนาดความกว้าง 1.20 เมตร เพื่อช่วยเหลือคนงานออกมา คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการแล้วเสร็จไม่เกิน 12 ชม.

ทั้งนี้นายสุริยะ ได้มอบหมายนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ในฐานะกำกับดูแล รฟท. ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ พร้อมท้้งได้แสดงความห่วงใย และให้ความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือคนงานที่ติดอยู่ภายในอุโมงค์เป็นอันดับแรก โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือ รวมทั้ง สั่งกำชับให้ รฟท. และบริษัทผู้รับเหมาเพิ่มมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการก่อสร้างในทุกโครงการอย่างเข้มงวด โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของผู้ปฏิบัติงาน และให้ยึดถือการปฏิบัติงานตามคู่มือมาตรฐานความปลอดภัยเป็นสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก.