อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หมอหมู วีระศักดิ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อมูลการศึกษาวิจัยใหม่ “การบริโภคคาเฟอีนมากเกินไป เพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้จริงหรือไม่”

หมอหมู วีระศักดิ์ ระบุข้อความว่า “การบริโภคคาเฟอีนมากเกินไป เพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้จริงหรือไม่” โดยงานวิจัยใหม่เชื่อมโยงการบริโภคคาเฟอีนมากเกินไปกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก การศึกษาวิจัยใหม่ที่นำเสนอในงาน ACC Asia 2024 ที่กรุงเดลี ประเทศอินเดีย แสดงให้เห็นว่าการดื่มคาเฟอีนมากกว่า 400 มก. ต่อวันในเกือบทุกวันในสัปดาห์ อาจส่งผลให้ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น การบริโภคคาเฟอีนเป็นประจำจะรบกวนระบบประสาทพาราซิมพาเทติก ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงและอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น การบริโภคคาเฟอีนเรื้อรัง หมายถึง การบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน 5 วันต่อสัปดาห์ นานกว่า 1 ปี

โดยมีวิธีวิจัย ดังนี้

  1. เน้นที่ ชา กาแฟ และเครื่องดื่มอัดลม เช่น โค้ก เป๊ปซี่ เรดบูล สติง และมอนสเตอร์
  2. ผู้วิจัยได้ประเมินกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่มที่มีผู้มีสุขภาพดีจำนวน 92 คน อายุระหว่าง 18 ถึง 45 ปี
  3. ผู้เข้าร่วมวิจัยทุกคนได้รับการวัดความดันโลหิตและชีพจร และเข้ารับการทดสอบการเดิน 3 นาที วัดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจที่ 1 นาทีและ 5 นาทีหลังการทดสอบ

    โดยผลการศึกษาพบว่า
  1. ผู้เข้าร่วมร้อยละ 19.6 บริโภคคาเฟอีนมากกว่า 400 มิลลิกรัมทุกวัน ซึ่งเทียบเท่ากับกาแฟประมาณ 4 แก้ว น้ำอัดลม 10 กระป๋อง หรือเครื่องดื่มชูกำลัง 2 กระป๋อง
  2. การบริโภคคาเฟอีนถึง 400 มก. ต่อวัน เป็นเวลานาน พบว่ามีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบประสาทอัตโนมัติ โดยทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและความดันโลหิตสูงขึ้นในระยะยาว
  3. ผู้ที่บริโภคคาเฟอีนในปริมาณสูงสุด บริโภคคาเฟอีนเรื้อรังมากกว่า 600 มก. ต่อวัน มีอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตสูงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากพัก 5 นาทีหลังการทดสอบการเดิน

    นอกจากนี้ “เนื่องจากคาเฟอีนส่งผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติ การบริโภคคาเฟอีนเป็นประจำอาจทำให้ผู้ที่มีสุขภาพดีเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจอื่นๆ การตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงเหล่านี้เพิ่มขึ้นถือเป็นสิ่งสำคัญในการปรับปรุงสุขภาพหัวใจของทุกคน”

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดที่หมอหมูนำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้นจึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของหมอหมู และควรหาข้อมูลเพื่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง..

ขอบคุณข้อมูล : หมอหมู วีระศักดิ์