เมื่อวันที่ 25  ส.ค.ที่สนามช้างอารีน่า จ.บุรีรัมย์  กระ ทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประเทศไทย ได้เปิดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 พร้อมการประชุมที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล” (Transforming Education in the Digital Era) โดยมีพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน โดยพล.ต.อ. เพิ่มพูน กล่าวภายหลังพิธีเปิดงานว่า ในฐานะที่ตนเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนตนมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุม ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 23 – 26 ส.ค. 2567 ซึ่งรวมถึงการประชุม ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและการประชุมระดับรัฐมนตรีศึกษาการประชุมครั้งนี้เป็นเวทีสําคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้นําด้านการศึกษาจากประเทศ สมาชิกอาเซียน อาเซียนบวกสาม (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) และอาเซียนบวกแปด (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย) มารวมตัวกันเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ และแลกเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาการศึกษา ภายใต้หัวข้อ “การพลิกโฉมการศึกษา ในยุคดิจิทัล” การประชุมนี้มุ่งเน้นการรับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก ที่จะหล่อหลอม อนาคตการศึกษาในอาเซียน โดยเฉพาะการเตรียมทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมสําหรับโลกการทํางานจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โครงสร้างทางประชากร และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการพัฒนา ทักษะใหม่และการยกระดับทักษะเพื่อให้แรงงานยังคงมีความสามารถในการปรับตัว ยืดหยุ่น และแข่งขันได้ การประชุมยังมุ่งเน้นการปรับตัวอย่างรวดเร็วต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ และการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามและความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างทันสมัย และมีประสิทธิภาพ

การประชุมครั้งนี้จึงนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทย โดยเฉพาะในการส่งเสริมบทบาท และภาพลักษณ์ของประเทศไทยกับอาเซียน และประเทศคู่เจรจา เพื่อผลักดันประเทศในภูมิภาค สู่การบรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและครอบคลุม รวมถึงการสนับสนุน การศึกษาตลอดชีวิต ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

‘จังหวัดบุรีรัมย์ได้รับการคัดเลือกเป็นสถานที่จัดการประชุมครั้งนี้อย่างเหมาะสม เนื่องจากมีสถานศึกษานําร่องกว่า 80 แห่งที่บริหารจัดการการศึกษาอย่างอิสระ ยืดหยุ่น และคล่องตัว ทําให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นแบบอย่างที่โดดเด่นสําหรับการศึกษาของอาเซียน

ผู้เข้าร่วมประชุมจะมีโอกาสศึกษาดูงานที่สถานศึกษาในพื้นที่ เช่น โรงเรียนลําปลายมาศพัฒนา ที่มีกระบวนการเรียนการสอนแบบจิตศึกษา โรงเรียนมีชัยพัฒนา ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ ทําให้นักเรียนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ที่มีความโดนเด่นในการนําเทคโนโลยีดิจิทัลมาบูรณาการในการจัดการเรียนการสอน และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี บุรีรัมย์ ซึ่งมุ่งเน้นการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล นอกจากนี้ ยังมีการเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึง การจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการนําเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ ในการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ซึ่งช่วยเสริมสร้างทักษะดิจิทัลที่ตอบสนองต่อความต้องการ ของตลาดแรงงาน และส่งเสริมทักษะอาชีพที่สร้างรายได้ระหว่างเรียนและทําให้ผู้เรียนมีงานทํา หลังจากจบการศึกษา’ รมว.ศธ.กล่าวและว่า ทั้งนี้ตนมั่นใจว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีสําคัญในการผนึกพลังของผู้นําด้านการศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทั่วภูมิภาคอาเซียน เพื่อร่วมกันกําหนดแนวทางและพลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัลให้ประสบความสําเร็จ และร่วมมือกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

ด้านนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า  การประชุมครั้งนี้ทุกประเทศสมาชิกมีความสนใจเรื่องโครงสร้าง กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากฐานะประชากรไทยมีจำนวนมาก และผู้เรียนจำนวนมาก มีบุคลากรทางการศึกษา เป็นเรื่องที่ทางอาเซียนให้ความสนใจ ระบบการบริหารจัดการเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษาที่บุรีรัมย์  โดยเฉพาะที่รร.มีชัยพัฒนา นอกจากนี้ในกลุ่มสมาชิกอาเซียนยังพบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งที่ประชุมเชื่อว่าการนำเทคโนโลยีทางการศึกษามาใช้จะทำให้สร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมได้ ดังนั้นการศึกษาของไทยจะเปลี่ยนไปสู่การศึกษายุคดิจิทัลมากขึ้น 

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเทรนด์การจัดการศึกษาในอนาคตนั้นทุกฝ่ายมองว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อวงการศึกษา ซึ่ง นโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้นำเทคโนโลยีมากับวงการศึกษาตามนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา หรือ anywhere anytime  โดยการจัดทำแพลทฟอร์มการเรียนรู้ที่ทันสมัย และสามารถดึงทรัพยากรการใช้งานร่วมกันได้ ซึ่งเร็วๆนี้จะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยทักษะเอไอจะเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรเลือกเรียนแบบโมดูลบูรณาการร่วมกับวิชาต่างๆ เช่นกิจกรรทลูกเสือ หรือกิจกรรมชมรมต่างๆในโรงเรียน เป็นต้น