เมื่อเวลา 18.28 น.วันที่ 25 ส.ค.2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานงานกาล่าดินเนอร์เฉลิมพระเกียรติฯ “เบญจกตัญญุตา” ภายใต้โครงการ “สสธวท รวมใจ เทิดเอกลักษณ์แห่งปัญจมังกร จารึกความกตัญญูต่อแผ่นดิน” เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุลประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานจัดงานฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการจัดงานฯ ผู้แทนองค์กรภาคีร่วม ได้แก่ สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มูลนิธิเกียรติร่วมมิตรเพื่อการศึกษา และสมาคมสตรีสัมพันธ์ เฝ้าฯ รับเสด็จฯ ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวณั กรุงเทพฯ ถนนราชดาริ

เมื่อเสด็จฯ ถึงภายในงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตร นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567, นิทรรศการเกี่ยวกับอุปรากรจีนภาคภาษาไทย (งิ้วไทย) ตำนานจีน 24 ยอดกตัญญู ภายใต้เนื้อหา 24 บทเรียนแสดงถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรม สอนให้เข้าใจถึงธรรมชาติในการใช้ชีวิตอย่างถูกต้องถือเป็นหลักสากล โดยเฉพาะวัฒนธรรมวิถีชีวิตของสังคมจีนโดยวัฒนธรรมสังคม เชิงพระพุทธศาสนา แบ่งบุญคุณของผู้มีอุปการะเป็น 5 ประเภท คือ “อุปัตติคุณ” บุญคุณที่ให้กำเนิดชีวิตและร่างกาย “อุปถัมภคุณ” บุญคุณที่เลี้ยงดูให้ข้าวให้น้ำให้ที่อยู่ “อารักขคุณ” บุญคุณที่เฝ้าปกป้องรักษาไม่ให้เกิดอันตราย “สาสคุณ” บุญคุณที่ให้การสั่งสอนให้ความรู้เกิดความสมัครสมานสามัคคี “ปิยคุณ” บุญคุณที่ให้ความรักความเมตตา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แล้วทอดพระเนตรนิทรรศการขององค์กรภาคีที่ร่วมกิจกรรม จากนั้นพระราชทานวโรกาสในคณะกรรมการจัดงาน เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร และของที่ระลึกตามลำดับ

ต่อมา คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธาน สสธวท กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดงานคือการรวมใจกันสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน 2 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 บนถนนเจริญกรุง ช่วงบริเวณศาลาเฉลิมกรุงลงมาถึงบริเวณสะพานดำรงสถิต และจุดที่ 2 บริเวณห้าแยกหมอมี ภายใต้ 5 แนวคิดหลัก ดังนี้ พระมหากษัตริย์ทรงได้รับการสดุดีเป็นมังกรแห่งมวลมนุษย์, นักษัตรประจำปีพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ปีพุทธศักราช 2567 เป็นนักษัตรปีมังกร ตามสุริยคติ, วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ มังกรกมลาวาส เป็นหนึ่งในศูนย์รวมใจพุทธศาสนิกชน ท้ายสุด “ถนนเจริญกรุง” ได้ชื่อว่า “ถนนสายมังกร” โดยจะนำรายได้จากการจัดงานกาล่าดินเนอร์ฯ ส่วนหนึ่ง ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระราชทานเป็นทุนประเดิมในการจัดสร้างถาวรวัตถุเฉลิมพระเกียรติฯ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูต่อสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช แห่งพระบรมราชจกัรีวงศ์ ต่อไป

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตรการแสดงอุปรากรจีนชุด 24 ยอดกตัญญู แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ การแสดงที่ 1 ประกอบด้วย 8 เซียนถวายพระพรและการแสดงอุปรากรจีนภาคภาษาไทย (งิ้วไทย) เรื่องกตัญญูเหนือยศศักดิ์..ฮ่องเต้ฮั่นเหวินตี้ชิมพระโอสถ การแสดงช่วงที่ 2 เป็นการแสดงอุปรากรจีนภาคภาษาไทย (งิ้วไทย) เรื่อง ฮัวมู่หลาน..ออกศึกแทนบิดา ภายหลังจบการแสดง เสวยพระกระยา หารค่ำ โดยมีการแสดงขับร้องบทเพลงจากนักร้องกิตติมศักดิ์ จากนั้นพระราชทานวโรกาสให้นักแสดง เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานช่อดอกไม้ พร้อมกับพระราชทานวโรกาสให้คณะกรรมการจัดงานฯ ผู้ให้การสนับสนุนการจัดงานฯ ตลอดจนคณะผู้แสดงอุปรากรจีนกิตติมศักดิ์ ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับพระองค์ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต.