ถือเป็นการลงพื้นที่ต่างจังหวัดอีกครั้งของ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อร่วม พูดคุยกับบรรดา “ผู้ประกอบการ”และ “ดิจิทัลสตาร์ทอัพ” ในพื้นที่ส่งเสริมให้เกิดการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาคอีสาน
ผ่านกิจกรรม ‘Ignite Isan Digital Hub’ ภายใต้โครงการ DIGINEXT by SEED THAILAND เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ สะท้อนข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปใช้ต่อยอดการดำเนินธุรกิจ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
โดยมี “พันธ์เทพ เสาโกศล” รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย “ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร” ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ “ดร.วาริน รัชนานุสรณ์” ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น ร่วมในกิจกรรม
“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รมว.ดีอี บอกว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ที่ จ.ขอนแก่น เป็นจุดที่สามของการลงพื้นที่ใน 3 ภูมิภาค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเมืองให้เป็นสมาร์ทซิตี้อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีการรวมตัวของสตาร์ทอัพ นักวิชาการ นักธุรกิจ ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อหารือและวางแผนการพัฒนาขอนแก่นให้เป็น “ดิจิทัลขอนแก่น แซนด์บ็อกซ์” ซึ่งจะเป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาเมืองให้ก้าวสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้เต็มรูปแบบ
“ก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งการลงพื้นที่ได้เน้นในเรื่องของสมาร์ทซิตี้ที่มุ่งเน้นการท่องเที่ยว โดยภูเก็ตมีศักยภาพสูงในด้านนี้ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และการลงพื้นที่ที่ จ.ชียงใหม่ ได้เน้นเรื่องการพัฒนาเมืองให้เป็นสมาร์ทซิตี้ที่เน้นเรื่อง Digital Nomad คือ ผู้ที่ทำงานออนไลน์ และท่องเที่ยวไปด้วยโดยสามารถทำงานได้ทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ตและเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเชียงใหม่มีการรวมตัวของชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัล เชียงใหม่จึงถูกมองว่าเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาด้านนี้อย่างชัดเจน”
“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” บอกต่อว่า สำหรับ จ.ขอนแก่น ได้รับการยกย่องว่าเป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน และภาคเอกชนถือว่ามีความเข้มแข็งเป็นเอกภาพ และมีความแข็งแกร่งด้านวัฒนธรรม เช่น ผ้าไหม รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐานและสถานศึกษาที่พร้อมจะสนับสนุนการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ทางทีมงานจึงได้กำหนดให้ขอนแก่นเป็น “ดิจิทัล ขอนแก่น แซนด์บ็อกซ์” (Digital Khon Kaen Sandbox) ที่เป็นพื้นที่ส่งเสริมให้เกิดการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาคอีสาน
อีกทั้งเน้นย้ำให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะ บิ๊กดาต้า จากผู้ประกอบการไทย เพื่อช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรม โดยวางเป้าหมายให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาเมืองให้เป็นสมาร์ทซิตี้ที่สมบูรณ์แบบ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาครอบคลุมทั้ง 7 ด้านของสมาร์ทซิตี้ อาทิ สมาร์ทลิฟวิ่ง สมาร์ทโมบิลิตี้ สมาร์ทเอ็ดดูเคชั่น สมาร์ทคอมเมิร์ซ และอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งขอนแก่นมีศักยภาพในด้านเหล่านี้อยู่แล้ว สิ่งที่จำเป็นคือการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนระบบเหล่านี้ให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามในการประชุมหารือในครั้งนี้ ได้หารือถึงข้อเรียกร้องของภาคเอกชนในพื้นที่ โดยในบางเรื่อง ทาง รมว.ดีอี บอกว่า สามารถดำเนินการได้ทันที เช่น การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยภาคเอกชนในขอนแก่นมีหน่วยงานที่ทำงานด้านบิ๊กดาต้าอยู่แล้ว และการสนับสนุนแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง หลังจากที่ได้มีการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อสองสัปดาห์ก่อน รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีอื่น ๆ มาใช้ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) และ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (สมาร์ทลีฟวิ่ง) เป็นต้น
“ได้สั่งการให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงดีอี เร่งจัดทำแผนงานที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งเป้าหมายให้โครงการนี้จะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลา 1-2 ปี นอกจากนี้จะมีการวางแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนโครงการสมาร์ทซิตี้ทั้งระบบ ครอบคลุม 4 ภาคของประเทศ ได้แก่ ขอนแก่นและนครราชสีมา ในภาคอีสาน เชียงใหม่ ในภาคเหนือ ภูเก็ตในภาคใต้ และชลบุรีและกรุงเทพฯในภาคกลาง เพื่อสร้างแผนการพัฒนาดิจิทัลที่เป็นหนึ่งเดียวของประเทศ” ประเสริฐ จันทรรวงทอง ระบุ
อย่างไรก็ตามนอกจากการลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการเอกชน แล้ว ยังมีการจัดกิจกรรม ‘Digital Content-Driven E-Commerce Workshop : การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มยอดขายด้วยดิจิทัลคอนเทนต์’ ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อยอดความสำเร็จของโครงการ CONNEXION ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อสร้างยอดขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่างมีประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าและให้บริการในจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียง
ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการถ่ายภาพสินค้า การสร้าง Storytelling การ Live ขายสินค้า การเปิดร้านค้าใน Social Commerce อย่าง TikTok และ Facebook และการใช้ข้อมูลวิเคราะห์ช่องทางขายสินค้าออนไลน์ด้วยแพลตฟอร์ม eTailligence และการสร้าง Micro Influencer หน้าใหม่ให้กับท้องถิ่น เป็นต้น
“หลังจากได้พูดคุยกับผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมถึงอินฟลูเอนเซอร์ที่เข้าร่วมกิจกรรมพบว่า สินค้าและบริการของพี่น้องผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคอีสานมีเอกลักษณ์และมีศักยภาพในการเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ และได้รับฟังผู้ประกอบการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในหลากหลายด้าน เช่น ผู้ประกอบการหลายรายยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการใช้งานเทคโนโลยีและ เครื่องมือดิจิทัลเพื่อเพิ่มยอดขายและวางแผนการตลาด ทำให้ไม่สามารถขยายตลาดและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ กิจกรรมในวันนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการเองจะต้องนำจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคอีสานมาใช้เป็นจุดขายเพื่อดึงดูดใจผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย”
ถือเป็นการเดินหน้าเต็มสูบนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้าไปยกระดับท้องถิ่นในภูมิภาคทั่วไทย.
จิราวัฒน์ จารุพันธ์