ประเด็นร้อนยังหนีไม่พ้น การสรรหาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ ทั้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่า ต้องใช้เวลาพอสมควร โดยก่อนหน้านั้น “น.ส.แพทองธาร” กล่าวในระหว่างการเตรียมการลงพื้นที่ภาคเหนือเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ตอนหนึ่งระบุว่า นายกฯ ยังไม่สามารถออกคำสั่งกับหน่วยงานราชการได้ จนกว่าจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วง ก.ย. หรือปลายเดือน ก.ย.

ด้าน “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการจัดตั้ง ครม. ว่า รอให้มีการโปรดเกล้าฯ เรียบร้อยก่อน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมชื่อให้พร้อม เพราะรายชื่อยังไม่ครบ ต้องถาม นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯและเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เมื่อถามถึงในส่วนของพรรคเพื่อไทย (พท.) รายชื่อส่งครบแล้วหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า พรรคพท.อยู่ในกระบวนการที่กำลังดูกันอยู่ เมื่อถามอีกว่าสาเหตุเป็นเพราะคนเยอะกว่าตำแหน่งใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวยอมรับว่า คนเยอะกว่าตำแหน่ง และเราต้องระมัดระวัง บางคนที่เราเสนอชื่อไปแล้ว อาจมีปัญหาได้ในเชิงจริยธรรม ซึ่งคำนี้ตีความได้กว้างมาก ก็ต้องเอาคนที่เหมาะสม ส่วนใครที่จะได้หรือไม่ได้ พวกเราเข้าใจกันได้อยู่แล้ว

แต่ที่เป็นคำถามและข้อสงสัยของหลายคนคือ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะได้ร่วมรัฐบาลครบทั้งพรรคหรือไม่ หลังหัวหน้ารัฐบาลยืนยัน ยังอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล แต่เมื่อมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพปชร. และ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมว. เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพปชร. ต่างฝ่ายต่างแสดงพลังโชว์ตัวเลขสส. ซึ่งมีจำนวน 20 เท่ากัน ดังนั้นคงอยู่ที่ “พรรคพท.” จะตัดสินใจเลือกโผของใคร รวมถึงจะดึงพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่

ขณะที่ “พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย” ทีมโฆษกพรรค พปชร. แถลงผลประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ว่ายืนยันการเข้าร่วมรัฐบาลที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ และได้เสนอชื่อบุคคลที่พิจารณาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี 4 คน ถึง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งตามข้อตกลงในการร่วมรัฐบาล คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข และ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรฯ

หากรายชื่อคนหนึ่งคนใดขาดคุณสมบัติ หรือไม่เหมาะสม ขอให้แจ้งกลับที่ พปชร. เพื่อทราบ และที่ประชุมมอบอำนาจให้ “พล.อ.ประวิตร” เป็นผู้พิจารณารายชื่อบุคคลอื่นได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องนำเข้าที่ประชุม กก.บห. อีกครั้ง แต่ถ้าหัวหน้าพรรคเห็นว่าควรนำรายชื่อกลับมาอีกครั้ง ก็คงจะมีการเรียกประชุม กก.บห. อีกครั้ง

ขณะที่มีรายงานว่า พรรคพปชร. ยืนยันจะเข้าร่วมรัฐบาล และการพิจารณาชื่อสมาชิกพรรคให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามข้อบังคับพรรค พปชร. พ.ศ.2561 ข้อ171) (ฉ)และ ข้อ 92 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พรรคการเมือง

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า หลัง “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ารายชื่อรัฐมนตรีส่งมาครบแล้ว มีรายงานข่าวระบุว่า รัฐมนตรีได้รับเอกสารให้กรอกประวัติตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมาแล้ว อาทิ น.ส.จิราพร สินธุไพร นอกจากนี้ ยังมีว่าที่รัฐมนตรีบางส่วนได้ส่งประวัติไปที่ตึก สลค. ทำเนียบรัฐบาล ให้ตรวจสอบแล้ว อาทิ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้กรอกประวัติและส่งเอกสาร พร้อมแนบคำตัดสินของศาลเกือบ 200 หน้าไปด้วย

ขณะเดียวกัน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง ที่มีข่าวว่าจะได้นั่งในตำแหน่งเดิม รวมถึง “นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ “หัวหน้าพรรคกล้าธรรม ที่มีข่าวว่าจะมาดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในโควต้าของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพปชร. ส่งประวัติให้ สลค. ตรวจสอบแล้วเช่นกัน

คำถามคือ การส่งชื่อ “นางนฤมล” หรืออาจารย์แหม่ม ไปดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ ใครเป็นคนส่งชื่อไป ถ้าหากเป็น “ร.อ.ธรรมนัส” ทำในฐานะเลขาธิการพรรคพปชร. ซึ่งจะขัดกับข้อกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.ป.พรรคการเมืองหรือไม่

ขณะที่ “นายสมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกมาให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก กรณีพรรค พปชร. มีมติ กก.บห. ยืนยัน 4 ชื่อเดิม ในการเข้าร่วมรัฐบาลที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ โดยระบุว่า เกมเหนือเกม ที่ถูกกฎหมายและรอบคอบ โดยพ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 15 (13) ระบุว่า ข้อบังคับของพรรคการเมือง ต้องมีรายละเอียดหลักเกณฑ์ การเสนอชื่อบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งต้องให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกอย่างกว้างขวาง จึงเป็นมติที่ชอบธรรมถูกต้องตามกฎหมาย ที่ส่งถึงพรรคพท. และหากพท.เห็นว่าใครไม่เหมาะสม ก็ส่งชื่อคืนเพื่อให้กก.บห. ลงมติเสนอคนใหม่ วิธีการที่บอกว่า หากฉันไม่ได้ ให้น้องชายฉันได้แทน จึงไม่อยู่ในกระบวนการที่บัญญัติในกฎหมาย

นอกจากนี้ “นายสมชัย” ยังระบุอีกว่า ได้ยินคนคุยกัน พวกที่อยู่พรรคการเมืองหนึ่ง แต่แอบติดต่อกับพรรคแกนนำรัฐบาล เสนอชื่อใครต่อใครร่วมรัฐบาล โดย กก.บห. ไม่ได้ให้ความเห็นชอบ และอ้างว่าตัวเองมีเสียง ส.ส. ในมือเท่าโน้นเท่านี้ เพื่อขอตำแหน่งรัฐมนตรี โปรดระวัง 1 .อาจมีผู้ไปร้องต่อ ป.ป.ช.ว่า ท่านทำผิด พ.ร.ป. พรรคการเมืองในเรื่องการเสนอชื่อบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง และฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในประเด็นแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว นำไปสู่การถอดถอนและตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต 2. ผู้บริหารพรรคการเมือง ที่รับผู้ที่รู้หรือสมควรรู้ว่าบุคคลดังกล่าว มีพฤติกรรมที่ขัดมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง อาจถูกรางวัลใหญ่ตามไปด้วย

ผลคือ “คุณธรรมนัส” ให้สัมภาษณ์ใหม่ ว่าไม่เคยแอบส่งชื่อ รมต. ให้พท. ไม่รู้ใครไปเขียนกันเองนึกถึงชื่อ 2 รมต. ของอีกพรรคหนึ่ง ทั้งยังไม่เคยประกาศต่อสมาชิก และไม่เคยมีมติกก.บห. ใครแอบไปส่งชื่อให้พท. จะมีปัญหาเรื่องฝ่าฝืนวินัยและขัดจริยธรรมหรือเปล่าไหมนี่

ขณะที่ “ร.อ.ธรรมนัส”ให้สัมภาษณ์ล่าสุด ถึงปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพปชร. ว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องของการเมือง ให้ความสำคัญในเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เล่นการเมืองมากกว่าการบ้าน การบ้านคือ การทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง ไม่ได้ซีเรียสเรื่องนี้ ไม่ทะเลาะกับใคร ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าพรรค หรือกก.บห. เลือกที่จะอยู่แบบสงบและทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน วันนี้อยู่ตรงนี้ พรุ่งนี้อาจจะไปอยู่อีกที่หนึ่ง ที่ๆ เรามีเคมีตรงกัน มีอุดมการณ์เดียวกัน ที่จะทำเพื่อชาติบ้านเมือง ท่านอย่าไปคาดหวังว่าการเมืองคือ 1 + 1 เป็น 2 การเมืองไม่ใช่ทฤษฎีเลขคณิต

ส่วนกรณีมีกระแสข่าวพรรคปชป. เตรียมจะเข้าร่วมรัฐบาล ที่มีพรรคพท.เป็นแกนนำ และได้ส่งชื่อ “นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน” หัวหน้าพรรค และ “นายเดชอิศม์ ขาวทอง” เลขาธิการพรรคฯ ไปเป็นรัฐมนตรีด้วยนั้น แหล่งข่าวระดับสูงของพรรคปชป. กล่าวว่า พรรคแกนนำรัฐบาลยังไม่มีการประสานงานมาอย่างเป็นทางการเลย ข่าวที่ออกมาเป็นการพูดกันไป แต่ถ้ามีการเชิญให้ไปร่วมรัฐบาลจริงๆ หัวหน้าพรรคปชป.ต้องเรียกประชุมกก.บห. ก่อน จากนั้นจึงทำตามข้อบังคับพรรคปชป. ข้อที่ 96 กำหนดให้มีการประชุมกก.บห.ร่วมกับ สส.ของพรรค เพื่อลงมติว่าจะร่วมรัฐบาล หรือถอนตัวจากรัฐบาลหรือไม่

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า หากที่ประชุมร่วมดังกล่าวมีมติให้ร่วมรัฐบาล จะต้องทำตามข้อบังคับพรรคฯ ข้อที่ 98 ที่กำหนดว่าการคัดเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคต้องเรียกประชุมกก.บห. เพื่อพิจารณารายชื่อบุคคลที่พรรคจะเสนอให้ไปรับตำแหน่งรัฐมนตรี และเมื่อมีมติสรุปรายชื่อดังกล่าวแล้ว ให้ กก.บห.เสนอชื่อให้ที่ประชุมร่วมระหว่างกก.บห.กับ สส.ของพรรคร่วมกันลงมติคัดเลือก ทั้งนี้ ในการเรียกประชุมกก.บห. หรือการประชุมร่วมดังกล่าว ไม่มีกำหนดเวลาว่าหัวหน้าพรรค จะต้องแจ้งนัดล่วงหน้ากี่วัน แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า นายเฉลิมชัย ได้ย้ำมาตลอดว่า ต้องทำตามขั้นตอนในข้อบังคับพรรค ขณะเดียวกันทุกคนในพรรคทราบดีว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่พรรคต้องทำ เพราะหากมีการส่งรายชื่อคนของพรรคไปรับตำแหน่งรัฐมนตรี โดยที่ไม่ผ่านกระบวนการตามข้อบังคับพรรคฯก่อน แม้ในข้อบังคับพรรคไม่ได้กำหนดบทลงโทษใดๆ แต่สมาชิกพรรคสามารถจะนำไปร้องเรียนต่อกกต. ได้

สำหรับข้อบังคับพรรคปชป. ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ รวมถึงจะเสนอชื่อบุคคลเป็นรัฐมนตรีหรือไม่นั้น อยู่ในหมวด 11 เรื่อง การจัดตั้งรัฐบาล ของข้อบังคับพรรคปชป.ที่ลงนามรับรองโดย “นายแสวง บุญมี” เลขาธิการกกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง และประกาศเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2566

ดังนั้นที่มีข่าวส่งชื่อสมาชิกพรรคเป็นรัฐมนตรี ไปให้พรรคพท.แล้ว อาจเป็นเพียงข่าวปล่อย เพราะถึงแม้แกนนำพรรคทั้ง “นายเฉลิมชัย” และ “นายเดชอิศม์” ต้องการเข้าร่วมรัฐบาล แต่แกนนำคนสำคัญอย่าง “นายชวน หลีกภัย” อดีตหัวหน้าพรรคปชป. ก็ออกมาแสดงความจุดยืนไม่เห็นด้วย รวมทั้งสมาชิกรรคบางส่วน ดังนั้นวันนี้พรรคปชป. เพียงทำได้แต่รอเทียบเชิญจากพรรคพท. เพื่อเรียกประชุมกก.บห.

ต้องถือเป็นการวัดกระแสความนิยมระหว่างสองพรรคแกนนำรัฐบาล และฝ่ายค้านเป็นครั้งแรก โดยผ่านสนามเลือกตั้งซ่อมที่ จ.พิษณุโลก เขตหนึ่ง โดยพรรคพท. ส่ง “นายจเด็ศ จันทรา” หรือ”บู้” โดยมี” นายสมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.สาธารณสุข รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อม จ.พิษณุโลก พรรคพท. ซึ่งเดิมเก้าอี้เป็นของ “นายปดิพัทธ์ สันติภาดา” อดีตสส.พรรคก้าวไกล (ก.ก.) แต่ต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง หลังพรรคก.ก. ถูกยุบ อันเนื่องมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) จึงต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม

“นายสมศักดิ์” กล่าวว่า ตอนแรกไม่มั่นใจ แต่หลังจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เข้ามา ก็ได้รับกระแสตอบรับสูงขึ้น ทำให้สู้กระแสเดิมในพื้นที่พิษณุโลกเขต 1 ได้ ซึ่งเป็นกระแสน่ากลัว อย่างไรก็ตาม กระแสของ น.ส.แพทองธาร ประกอบกับแนวนโยบายที่ปรึกษาแต่ละคนในพรรค ที่แสดงแนวทาง หรือวิสัยทัศน์ออกมา ทำให้ประชาชนขานรับ เป็นสิ่งที่ทำให้ตนเซอร์ไพรส์ หลังจากลงพื้นที่พบปะประชาชนที่มีการถามไถ่มา เรียกว่ากระแสดีไม่น่าห่วงใยเท่าไหร่

ขณะที่พรรคประชาชน (ปชช.) ซึ่งเดิมคือพรรคก.ก. ได้ส่ง “นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์” หรือโฟล์ค ลงสมัครสมัครรับเลือกตั้งซ่อม สส. เขต 1 พิษณุโลก ซึ่งถือเป็นสนามเลือกตั้งแรก ภายหลังพรรคก.ก. ถูกยุบพรรค โดยถือเป็นการพิสูจน์ความสามารถ และความเชื่อมั่นของชาวบ้านที่มีต่อ “เท้ง” นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคปชช. ซึ่งมารับไม้ต่อจาก “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก.ก. ซึ่งถือเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญ และการรักษาที่นั่งเดิมไว้ให้ได้ เพื่อเป็นการสร้างกระแสความนิยมให้อยู่กับพรรคอย่างต่อเนื่อง

ด้าน “นายปดิพัทธ์” ได้กล่าวว่า สำหรับตัวเองแล้ว วันนี้ถอยมาเป็นผู้สนับสนุนอย่างสมบูรณ์แบบ โฟล์คเองก็มีภาวะผู้นำที่จะนำทีมเอง ส่วนตัวเองก็แล้วแต่โฟล์คเลย ยินดีให้คำแนะนำในทุกด้าน แล้วแต่ว่าน้องอยากให้ช่วยแนะนำเรื่องไหน เพราะไม่คิดว่าผู้สมัครที่จะมาต่อจากตนเองนั้น ถ้าเรื่องเดิมๆ ก็คือทายาทการเมืองหมออ๋องเตรียมไว้ให้ บอกเลยว่าไม่มีพรรคปชช.ไม่มีวัฒนธรรมแบบนั้น เพราะฉะนั้น โฟล์คเองจะเดินหาเสียงด้วยตัวเอง ปราศรัยด้วยตนเอง แล้วก็ทำงานด้วยตัวเอง

แม้ผลการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.พิษณุโลก เขต 1 แม้จะเป็นเพียงเก้าอี้เดียว แต่ต้องถือมีความหมายสำหรับพรรคพท.และ พรรคปชช. ซึ่งทั้งสองพรรคมีสถานะเป็นแกนนำรัฐบาลและเป็นแกนนำฝ่ายค้าน ซึ่งต้องเป็นคู่ต่อสู้ในสนามเลือกตั้งใหญ่ปี 70 หากสภาผู้แทนราษฎรอยู่ครบวาระ ยิ่ง “น.ส.แพทองธาร” เพิ่งก้าวเข้ามารับตำแหน่งนายกฯ ส่วน “นายณัฐพงษ์” ก็เพิ่งได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคปชช. และจะทำหน้าที่ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในอนาคต ผลการเลือกตั้งที่ออกมาจะมีส่วนสำคัญที่ผู้ชนะจะนำไปสร้างกระแสให้พรรคได้มากพอสมควร เชื่อว่าทั้งสองฝ่ายไม่มีทางออมมือแน่ๆ

“ทีมข่าวการเมือง”