เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ จ.สุโขทัย นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงการติดตามผู้ป่วยฝีดาษลิงชายชาวยุโรปอายุ 66 ปี ที่เป็นสายพันธุ์ Clade1B รายแรกของประเทศไทย และผู้สัมผัส ว่า ผู้ป่วยอาการดีขึ้นอย่างมาก ขณะที่ผู้สัมผัส 43 ราย ซึ่งเราได้มีการเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อ พบว่า ทุกคนไม่มีอาการ ไม่มีไข้ แม้กระทั่งภรรยาที่มีความใกล้ชิด ก็ไม่พบการติดเชื้อ แต่เรามีการติดตามตลอดเวลาจนกว่าจะครบ 21 วัน ตั้งแต่วันที่สัมผัสกับผู้ป่วย
ถามว่ามีความชัดเจนแล้วหรือยัง ว่าสาเหตุการติดเชื้อเกิดจากอะไร นพ.ธงชัย กล่าวว่า เรามีการติดตามสอบถาม ซึ่งเจ้าตัวมีธุรกิจอยู่ที่ประเทต้นทางที่ติดเชื้อ ซึ่งที่นั่นการดูแลสุขอนามัยไม่ค่อยดีนัก
ถามย้ำว่าเป็นการติดเชื้อจากนอกประเทศ ไม่ใช่เป็นการติดเชื้อในประเทศไทยใช่หรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ยืนยันว่าเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของ Clade1B การที่เราพบเร็วตรวจได้เร็ว และสามารถหาผู้สัมผัสได้เร็ว เป็นสิ่งที่ทำให้เราควบคุมป้องกันโรคได้ และการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนที่เร็ว ก็ทำให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการควบคุมป้องกันโรคได้
ถามว่าจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนฝีดาษเพื่อป้องกันหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า อาจารย์หลายๆ ท่านแนะนำว่าไม่ต้องฉีด กลุ่มที่ควรฉีดคือ 1.คนที่เดินทางไปประเทศที่มีการระบาด 2.กลุ่มที่สัมผัสกับคนใกล้ชิดที่มาจากประเทศที่มีการระบาด เช่น ทำธุรกิจ Sex Worker หากหลีกเลี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์หรือใกล้ชิดไม่ได้ก็ควรจะฉีด
ถามว่าคนที่เคยฉีดวัคซีนฝีดาษ (Smallpox) จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะร่างกายเคยรับไปแล้วก็เหมือนมีโรงงาน แม้จะลดสายการผลิตลง เหมือนภูมิคุ้มกันต่ำลง แต่หากมีเชื้อเข้ามา ก็สามารถผลิตภูมิคุ้มกันมาต่อสู้ได้เลย คนที่เคยฉีดแล้ว จะมีลักษณะแผลเป็นจากการปลูกฝีที่ต้นแขนส่วนใหญ่ แต่บางคนช่วงหลังๆ ใกล้ปี 2523 ก็จะไปปลูกจุดอื่น เช่น หน้าขา สะโพก เป็นต้น
เมื่อถามว่าผู้ป่วยชาวยุโรปอายุ 66 ปี มีการฉีดวัคซีนฝีดาษมาก่อนหรือไม่ ถึงได้มีการติดเชื้อ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ก็มีการสอบถาม แต่ไม่แน่ใจในประวัติของการรับวัคซีน เพราะในยุโรปมีการสิ้นสุดของโรคฝีดาษ และไม่ได้ฉีดวัคซีนนานกว่าประเทศไทย
ถามต่อว่ามีการพูดกันว่า ยอมติดโควิด-19 ดีกว่าติดฝีดาษลิง เพราะทำเกิดรอยแผลที่ดูน่ากลัว นพ.ธงชัย กล่าวว่า จริงๆ แล้วไม่ควรติดทั้งหมดเลย โควิดเมื่อติดแล้ว แม้ตอนนี้ความรุนแรงจะน้อย แต่โอกาสแพร่ได้สูงจากการไอจามมีน้ำมูก แต่ฝีดาษลิงจะไม่แสดงอาการด้วยการไอหรือน้ำมูกเท่าไร ส่วนใหญ่อาจจะเจ็บคอ มีไข้และผื่นขึ้น กลุ่มนี้เป็นการติดต่อกันแบบสัมผัสใกล้ชิดมาก หรือ Close Contact โอกาสการแพร่ระบาดจึงต่ำ เพราะไม่ได้ไปไอแพร่เชื้อ ต้องสัมผัสใกล้ชิดจริงๆ ดังนั้น ให้สังเกตคนที่เราใกล้ชิดด้วย มีแผล มีตุ่มหนอง มีจุดดำตามหน้าหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่จะขึ้นที่หน้าและฝ่ามือ
“ย้ำว่าไม่ได้ติดง่าย ส่วนแผลเป็นสุดท้ายก็จะจางหายไป ส่วนที่คิดว่าเป็นแล้วจะหายเองได้ ไม่ไปพบแพทย์ ขอย้ำว่าให้รีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เพื่อจะได้ตรวจดูว่ามีประวัติภูมิคุ้มกันต่ำหรือไม่ ทานยาอะไรที่กดภูมิคุ้มกันหรือไม่ เช่น คนเปลี่ยนอวัยวะ เป็นต้น ซึ่งทำให้ความรุนแรงของฝีดาษลิงเกิดขึ้นได้” นพ.ธงชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงความกังวลที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เกรงว่าฝีดาษลิง จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว และอยากให้มีมาตรการรองรับ นพ.ธงชัย กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้กลับมองว่าเป็นเชิงบวกด้วยซ้ำ เพราะว่าระบบป้องกันควบคุมโรคเราดี สามารถตรวจสอบผู้ป่วยได้เร็ว โอกาสที่จะแพร่ระบาดภายในประเทศ จะไม่มีหรือน้อยลงมาก แต่หากปล่อยนักท่องเที่ยวเข้าไปอยู่เยอะ ไม่มีข่าว ไม่มีระบบ แล้วนักท่องเที่ยวไปติดที่เมืองไทยเอง กลับจะเป็นผลไม่ดีมากกว่า แต่กรณีนี้ยืนยันว่าไม่ได้ติดที่เมืองไทย ฉะนั้น เมืองไทยยังไม่มีการระบาดฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade1B แน่นอน
“สายพันธุ์ Clade1B อยู่นอกประเทศ เดินเข้ามาเองไม่ได้ ต้องผ่านจากคนหรือสัตว์เข้ามา สิ่งสำคัญคือด่านควบคุม เมื่อก่อนคนเข้ามาจากต่างประเทศ ก็เข้า ตม. เลย ดังนั้น ประเทศกลุ่มเสี่ยง Clade1B จะต้องผ่านด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อน ว่ามีไข้หรือไม่ ซักประวัติ ดูตุ่มต่างๆ ก่อน หากไม่มีถึงปล่อยออกไป และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดูแลเรื่องสัตว์นำเข้าจากต่างประเทศ ให้เข้มงวดเรื่องสัตว์ฟันแทะที่มาจากประเทศแถวแอฟริกา ตามนโยบาย One Health” นพ.ธงชัย กล่าว.