เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 นายสมศักย์ ปรางทอง ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการด้านการใช้พลังงานและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วย นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดร.พีรนุช กัณหดิลก ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รักษาการผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และนางสาวสุวิตา จรัญวงศ์ CEO & CO – Founder บริษัท เทลสกอร์ จำกัด ร่วมมอบรางวัล EGAT Green Learning Society ประจำปี 2567 แก่เยาวชนและโรงเรียนที่เป็นแบบอย่างที่ดี มีผลงานโดดเด่นด้านการสนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียว ณ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ดังนี้
1) กิจกรรม EGAT Young Influencer เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารอย่างมืออาชีพให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 1. EGAT Green Seed Influencer การประกวดคลิปวิดิโอส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ในหัวข้อที่น่าสนใจ มีเทคนิคการนำเสนอแปลกใหม่ และมีความทันสมัย จำนวน 6 รางวัล โดยโรงเรียนดาราวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประถมศึกษาตอนปลาย จากผลงาน ภารกิจสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และ โรงเรียนสายธรรมจันทร์ จ.ราชบุรี ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากผลงาน โลกที่ฝัน และ 2. EGAT Green Talk การพูดสื่อสารด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในที่สาธารณะ จำนวน 6 รางวัล โดยโรงเรียนอนุบาลวัดสระแก้ว จ.สระแก้ว ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประถมศึกษาตอนปลาย จากผลงาน 7R ลดโลกร้อน และโรงเรียนร้องกวางอนุสรณ์ จ.แพร่ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากผลงาน คนเมืองแป้รักษ์โลก
2) โรงเรียนเบอร์ 5 ส่งเสริมให้โรงเรียนบูรณาการองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในทุกกิจกรรม ด้านการบริหารจัดการพลังงาน การจัดการเรียนการสอน และการจัดกิจกรรมให้กับเยาวชน มี 133 โรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์จากทุกภูมิภาค โดยได้รับมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตร จำนวน 106 โรงเรียน
กฟผ. ดำเนินโครงการห้องเรียนสีเขียวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2541 เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ให้แก่นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียน ปัจจุบันมีโรงเรียนเครือข่ายกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ และมีนักเรียนในโครงการกว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศ ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา