จากกรณี ”เดลินิวส์” ได้เสนอข่าวปัญหาการถือครองที่ดินของรัฐ และการประกอบธุรกิจวิลล่าหรูให้เช่าของชาวต่างชาติบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มาอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การตรวจสอบของ กอ.รมน.ภาค 4 และพบปัญหาความรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยมีการประเดิม กล่าวโทษเอาผิดการก่อสร้างวิลล่าหรู จำนวน 53 หลัง บนเขาเฉวงน้อย พื้นที่หมู่ที่ 3 ต.บ่อผุด ต่อ พนักงานสอบสวน บก.ปทส. ขณะที่เทศบาลใช้คำสั่งปกครอง ทุบ 2 อาคารนำร่อง ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ห้องประชุมนางยวน ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี พล.ต.อนุสรณ์ โออุไร รองแม่ทัพภาคที่ 4/รอง ผอ.รมน.ภาค 4 เป็นประธานประชุมติดตามการบังคับใช้กฏหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ในการแก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่ลาดชันสูงและการประกอบธุรกิจของชาวต่างด้าวบนเกาะสมุย และหารือกำหนดแนวทางการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักลงทุน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปกครองจังหวัดสุราษฎร์ธานี, เทศบาลนครเกาะสมุย, พาณิชย์จังหวัด, โยธาธิการ, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสรรพากร เข้าร่วมประชุม
พ.อ.ดุสิต เกษรแก้ว หัวหน้าชุดตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 ได้กล่าวบรรยายสรุปการทำงานในห้วง 6 เดือนที่ผ่านมาว่า การเข้าตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างลักษณะวิลล่าหรู บนพื้นที่ลาดชันสูง ในจุดที่ 1 พื้นที่เขาเฉวงน้อย ต.บ่อผุด พบว่าปัญหามาจากการที่ชาวต่างชาติต้องการเข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับที่พักบริการนักท่องเที่ยวประเภทวิลล่าและโรงแรมขนาดเล็ก จึงได้หาแนวทางการทำธุรกิจ จากกลุ่มที่มีมีความรู้ทางด้านกฎหมาย นำไปสู่การจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคลเพื่อถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังจากนั้นจึงไปจัดหาที่ดินผ่านทางกลุ่มนายหน้าชาวไทย
ซึ่งในกระบวนการนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ในประเด็นเกี่ยวกับเอกสารสิทธิการถือครองที่ดิน เมื่อกลุ่มทุนชาวต่างชาติเหล่านี้ ถือครองที่ดินในนามนิติบุคคลได้ตามกฎหมายไทย ก็จะเริ่มดำเนินการในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิลล่าหรูและโรงแรมขนาดเล็ก ในกระบวนการกระบวนการนี้ ก็จะจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนสนับสนุนในการจัดหาใบอนุญาต การออกแบบและการเสนอแบบแปลนที่ถูกต้องตามกฏหมาย ในขณะเดียวกันก็จะมีแบบแปลนการก่อสร้างที่เป็นไปตามความต้องการของนักลงทุน และเมื่อการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยก็จะมีการนำไปประกอบธุรกิจให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสัญชาติเดียวกัน หรือสัญชาติอื่นๆ ที่มีกำลังซื้อ เข้าพักโดยส่วนใหญ่จะประกาศให้เช่าห้องพัก และจ่ายเงิน ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต
การตรวจสอบด้วยการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ สมุยโมเดล พบว่านักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจใน อ.เกาะสมุย บางส่วนจงใจเลี่ยงกฎหมายไทย เพื่อผลประโยชน์ธุรกิจ แต่ก็มีบางส่วน ที่ถูกหลอกลวงให้เสียเงิน และทำผิดกฎหมายจนนำไปสู่การจับกุมและการสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง ที่สำคัญการประกอบธุรกิจของชาวต่างด้าว โดยเฉพาะในกลุ่มที่จงใจหลีกเลี่ยงกฎหมาย ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้จำนวนมาก
โศกนาฏกรรม! พบแล้ว 10 ศพ อยู่ใต้ซากปรักหักพัง เหตุดินโคลนถล่มพื้นที่กะรน ภูเก็ต
ขณะที่ พล.ต.อนุสรณ์ กล่าวว่า จากสภาพปัญหาดังกล่าว กอ.รมน.ภาค 4 โดยคณะทำงานแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 ในฐานะหน่วยประสานงาน ได้จัดทำแผนปฏิบัติ เพื่อให้การทำงานแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน ออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การป้องปราม ไม่ให้มีการก่อสร้างหรือให้การก่อสร้างเป็นไปตามกฎหมาย ด้วยการตรวจสอบและสืบสวนจับกุมภายใต้การบูรณาการ สมุยโมเดล และ 2.จัดตั้งคลินิกศูนย์ช่วยเหลือนักลงทุน เพื่อให้เป็นที่ปรึกษาและแนะนำการลงทุนให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยศูนย์นี้จะได้รับความร่วมมือจากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุยซึ่งเป็นภาคเอกชนในพื้นที่ ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนการลงทุน การจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคล และการตรวจสอบการได้มาซึ่งที่ดิน การขออนุญาตก่อสร้าง รวมถึงใบอนุญาตต่างๆ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ
“สิ่งที่เรากังวลคือการก่อสร้างบนพื้นที่ลาดชันสูง แม้ว่าขณะนี้จะมีความเห็นขัดแย้งจากกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ แต่ กอ.รมน. ในฐานะที่เราต้องดูแลผลประโยชน์ของชาติ ทั้งในเรื่องของความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หากยังปล่อยให้มีการก่อสร้างบนที่ลาดชันสูงอนาคตข้างหน้า ก็จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนตัวของชั้นหิน การพังทลายของภูเขา อย่างกรณีที่เกิดขึ้นที่ เขานาคเกิด จ.ภูเก็ต ซึ่งในเรื่องนี้ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 ได้มีคำสั่งให้ชุดตรวจสอบฯ ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ ว่าการก่อสร้าง ในบริเวณที่เกิดเหตุเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่าสาเหตุการถล่มของภูเขา มาจากการก่อสร้างที่พักอาศัยบนที่ลาดชันสูง และการทำลายทรัพยากรธรรมขาติ ซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนตัวของชั้นหิน เมื่อเกิดฝนตกหนักจึงทำให้เกิดดินสไลด์ และนำหินขนาดใหญ่ลงมาทับบ้านเรือนประชาชนที่อยู่บริเวณเชิงเขา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตดังกล่าว โดยคณะตรวจสอบได้เดินทางเข้าพื้นที่ เพื่อทำการตรวจความลาดชัน ประกอบภาพถ่ายทางอากาศ ย้อนดูทรัพยากรธรรมชาติในอดีต เพื่อเปรียบเทียบกับสภาพในปัจจุบัน รวมถึงตรวจสอบการก่อสร้างบริเวณที่เกิดเหตุ ว่าเป็นไปตาม ประกาศกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมหรือไม่” พล.ต.อนุสรณ์ กล่าวในที่สุด