“กรุงเทพมหานคร” ในฐานะเมืองหลวง เป็นศูนย์กลางระบบเศรษฐกิจประเทศ จึงหลีกเลี่ยงได้ยากกับการเป็นหมุดหมายขอทานซึ่งเป็นภาพปัญหาเรื้อรังมานาน ในอดีตมักพบเจอขอทานนั่งตามสะพานลอยคนเดิข้าม ขอเงินตามตลาดนัด หรือแหล่งท่องเที่ยว นอกจากภาพลักษณ์ที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนหนึ่งยังเป็นปัญหาเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ฝ่ายปกครองลงพื้นที่กวดขันทีก็หายไป แต่สักพักก็กลับมาใหม่

กระทั่งมี พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 ออกมาจัดระเบียบขอทาน ป้องกันขบวนการค้ามนุษย์ที่แสวงหาประโยชน์จากกลุ่มขอทาน ทำให้เห็นการจัดระเบียบแก้ปัญหาชัดเจนขึ้น แม้จะยังไม่หมดไป เปลี่ยนเพียง “พิกัด” สถานที่ และเวลาในการออกหากิน เพื่อหลบการตรวจจับเท่านั้น

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เคยหารือเรื่องการแก้ปัญหากับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาด้านขอทาน-คนไร้บ้าน เพื่อประสานข้อมูลและทำงานร่วมกัน สั่ง 50 สำนักงานเขต จัดเทศกิจออกกวดขันไม่ให้มีกลุ่มคนมานั่งขอทานริมถนน หรือแหล่งชุมชน

ล่าสุด กทม. ร่วมแคมเปญรณรงค์ “หยุดการขอทาน ด้วยการหยุดให้” ของ พม. โดย นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัด กทม. เผยตอนหนึ่งระหว่างร่วมประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือโครงการรณรงค์สังคม สร้างการรับรู้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขอทาน ภายใต้แนวคิด “ให้โอกาสเปลี่ยนชีวิต…หยุดคิดก่อนให้ทาน” ว่า พร้อมร่วมมือกับ พม. และภาคีเครือข่าย ซึ่งสามารถช่วยให้มีโอกาสพัฒนาด้านอื่นๆ หากไม่มีการให้ ขอทานไม่มีรายได้ ไม่จูงใจที่จะทำ จะทำให้ขอทานลดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม เข้าใจถึงความเดือดร้อน ความจำเป็น และ กทม. พร้อมสนับสนุนเรื่องช่วยเหลือทั้งด้านที่อยู่อาศัยชั่วคราว การฝึกอาชีพ

“การให้ปลา ให้เท่าไหร่ก็ไม่หมด ให้ไม่พอให้ แต่การสอนให้เขาตกปลาเป็น ดูแลตัวเองได้มีคุณค่าของชีวิตมากกว่า” ปลัด กทม. ระบุ

ด้าน นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว่า ปัญหาขอทานมีความซับซ้อน ทางแก้สำคัญคือกลไกของฝ่ายปกครองต้องเข้มงวดก่อน ตามด้วยกลไกให้ความช่วยเหลือที่ต้องเข้มข้น ต้องเดินเคียงคู่กัน ปัจจุบัน กทม. อยู่ระหว่างดำเนินการในส่วนนี้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่การตั้งจุด Drop-in ใต้สะพานปิ่นเกล้า เพื่อให้บริการสวัสดิการต่างๆ ตามสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะประชาชนคนหนึ่ง รวมถึงบริการจัดหางาน เป็นต้น

สำหรับกลไกด้านปกครอง เทศกิจลงพื้นที่ตรวจสอบสม่ำเสมอ และมีรายงานทุกวัน โดยประชาชนสามารถใช้ช่องทาง “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” แจ้งเบาะแสพบเห็นขอทานตามสถานที่ต่างๆ ได้ ส่วนความคืบหน้าการปรับปรุงที่พักพิงอย่าง “บ้านอิ่มใจ” ในพื้นที่ประปาแม้นศรีนั้น สำนักพัฒนาสังคมอยู่ระหว่างของบประมาณปี 2568 เป็นเงิน 21 ล้านบาท มาดำเนินการ หากสภา กทม. อนุมัติก็ลงมือได้ทันที

ขณะที่ นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผอ.สำนักพัฒนาสังคม กล่าวว่า ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จัดระเบียบพื้นที่ที่มีขอทานในย่านธุรกิจ หน้าห้างสรรพสินค้า รวมถึงหน้าศูนย์การค้าในย่านแหล่งท่องเที่ยว ตลาด และบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดิน ขณะเดียวกันยังมีการสำรวจ คัดกรอง จัดทำประวัติ ให้คำปรึกษาแนะนำ และทำความเข้าใจกับขอทาน

กรณีพบเป็นขอทานต่างด้าว ตามขั้นตอนจะประสานนำส่งสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อสอบสวน บันทึกจับกุม เปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทานฯ และส่งตัวไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองผลักดันกลับประเทศต้นทาง

ขณะเดียวกัน ประสานฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขต 50 เขต ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทานฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ใช้อำนาจตามบทบาท เพราะการแก้ปัญหาระยะยาว ทั้งขอทานไทย และขอทานต่างด้าวในที่สาธารณะ จำเป็นต้องร่วมมือกันหลายหน่วย จึงจะลดจำนวนหน้าเก่าและผู้ที่จะเข้ามาในวงจรหน้าใหม่ได้.

ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน