จากกรณีกลุ่มเกษตรกรคนจนจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ในพื้นที่ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดย นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบหมายให้ ร.ต.ต.สุรศิษฏ์ เหลืองอรัญนภา ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำคณะลงตรวจสอบพื้นที่ในข้อร้องเรียนดังกล่าว

สภาทนายฯ ลุยลงพื้นที่ ‘เขาค้อ’ ช่วยเกษตรกรคนจนมีที่ดินอยู่อาศัย-ทำกิน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายวิโรจน์ แซ่จ๊ะ ประธานกลุ่มเกษตรกรคนจนจังหวัดเพชรบูรณ์ ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา ที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 3 ได้อพยพเคลื่อนย้าย พวกเรากลุ่มชาติพันธ์ุม้ง ซึ่งมีบัตรประชาชน จำนวน 120 ครอบครัว ให้ลงมาอาศัยและทำกินในพื้นที่ หมู่ที่ 2 บ้านแคมป์สน ตำบลเข็กน้อย อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ได้เปลี่ยนมาเป็น อำเภอเขาค้อ ซึ่งห่างจากที่ตั้งถิ่นฐานเดิมประมาณ 35 กิโลเมตร โดยกลุ่มชาวบ้าน ต้องลงมาเช่าที่ดินทำกินและอยู่อาศัยมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง

ชาวบ้านแต่ละครอบครัวต้องเช่าที่ดินทำกินครอบครัวละประมาณ 15,000–25,000 บาทต่อปี และเช่าที่อยู่อาศัย ครอบครัวละประมาณ 5,000 บาท ทำให้กลุ่มชาวบ้านต้องทนลำบาก ทั้งที่ที่ผ่านมา พวกตนเคยมีหมู่บ้าน มีที่ดินทำกิน และอยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยอยู่อาศัยและทำกินเรื่อยมา จนกองทัพภาคที่ 3 มีนโยบาย พวกตนออกจากพื้นที่ ในช่วงปี พ.ศ. 2518

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ นายจงเย่ แซ่หยาง อายุ 67 ปี ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้อพยพเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่กลุ่มหมู่บ้านเล่านะ บ้านเล่าเน้ง ในช่วงนั้น เล่าให้ฟังว่า ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2500 ได้มีกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เดินทางโยกย้ายถิ่นฐานจากหมู่บ้านแถบภูหินร่องกล้า กว่า 50 ครอบครัว เพื่อหาที่ดินทำกินที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยและทำการเกษตร โดยใช้เวลาเดินทางกว่า 2 วัน จึงมาถึงพื้นที่บริเวณแถบ ตำบลป่าเลา อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งพบว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในวิถีชีวิตของชาวม้ง ได้แก่ การทำไร่ข้าว ไร่ขิง ไร่ข้าวโพด โดยกลุ่มชาวม้งได้แบ่งพื้นที่กันทำกิน คือ กลุ่มเล่านะ มีนายเล่านะ แซ่หยาง เป็นผู้นำกลุ่ม กลุ่มเล่าเน้ง มีนายเล่าเน้ง แซ่หว้า เป็นผู้นำกลุ่ม และกลุ่มเล่าลือ มีนายเล่าลือ แซ่คำ เป็นผู้นำกลุ่ม ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน

จากนั้นในช่วงปี พ.ศ. 2503-2504 มีเจ้าหน้าที่จากทางอำเภอได้มีการสำรวจประชากรในหมู่บ้าน จนต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2507 ทางอำเภอได้มีการถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านเล่านะ หมู่บ้านเล่าเน้ง และหมู่บ้านเล่าลือ ซึ่งต่อมาหมู่บ้านเล่านะ ได้ประกาศเป็นบ้านเล่านะ หมู่ที่ 3 ตำบลป่าเลา อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี นายเล่านะ แซ่หยาง เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ส่วนหมู่บ้านเล่าเน้ง ได้ประกาศเป็นบ้านเล่าเน้ง หมู่ที่ 9 ตำบลป่าเลา อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีนายเล่าเน้ง แซ่หว้า เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก จนมาปี พ.ศ. 2508 ในพื้นที่เขตจังหวัดเพชรบูรณ์ เริ่มมีการปลุกระดมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขึ้นมาเพื่อชักชวนให้ชาวบ้านมาเป็นแนวร่วม รัฐบาลไทยจึงพยายามสนับสนุนชาวบ้านในพื้นที่ได้เรียนหนังสือ รู้จักประเทศไทย ภาษาไทย เพลงชาติไทย โดยมีการตั้งโรงเรียนขึ้นชื่อว่า โรงเรียนยอดแก้วชัง ซึ่งเป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล่านะ

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2510-2518 มีสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในพื้นที่เขาค้อ อย่างหนัก มีการเปิดยุทธการหลายยุทธการในพื้นที่เขาค้อ ซึ่งเกิดจากนโยบายทางทหารของกองทัพภาคที่ 3 ที่ต้องการรวบรวมประชาชนชาวเขาตามหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่อำเภอเขาค้อ ให้มาอยู่รวมกันเพื่อไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะเกิดการสู้รบในพื้นที่เขตรอยต่อ 3 จังหวัด จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเลย

โดยฝ่ายทหารเปิดยุทธการที่สำคัญหลักๆ ถึง 4 ครั้ง คือยุทธการภูขี้เถ้า ยุทธการภูขวาง ยุทธการสามชัย และยุทธการผาเมืองเผด็จศึก ทำให้มีเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเฉพาะพื้นที่แถบเขาค้อ เนื่องจากขบวนการคอมมิวนิสต์เข้ามาปลุกระดมกลุ่มชาวม้งให้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาล ก่อให้เกิดการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับคอมมิวนิสต์ โดยช่วงนั้นกองทัพภาคที่ 3 ได้ชักชวนให้กลุ่มชาวม้งเข้าร่วมเป็นชาวเขาอาสาสมัครช่วยเหลือภาครัฐต่อสู้กับกลุ่มคอมมิวนิสต์ ใช้ชื่อว่า ชมรมกองร้อยอาสาสมัครชาวเขา โดยให้คำมั่นว่าหากการสู้รบสิ้นสุดลงเมื่อใดจะให้สิทธิในที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินถาวรแก่ชาวม้งที่เข้าร่วมกับรัฐบาล

จนประมาณปี พ.ศ. 2518 มีการทำสงครามสู้รบระหว่างรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์หนักขึ้น ทหารฝ่ายไทยจึงได้อพยพชาวม้งทั้ง 3 หมู่บ้าน มีหน่วยทหาร จากกองทัพภาคที่ 3 ได้ให้ชาวบ้าน หมู่บ้านเล่านะ หมู่บ้านเล่าเน้ง และหมู่บ้านเล่าลือ ประมาณ 1,700 คน มีทั้งเด็กเล็กและผู้หญิง หนีเข้าป่าในเวลาประมาณ 20.00 น. โดยมีทหารเดินปิดหัวปิดท้ายใช้เวลาเดินทั้งคืนเลาะตามลำน้ำหาช่องทางลงจากเขา ซึ่งเป็นหน้าผาหลายชั้น ผ่านเขื่อนป่าแดง จนมาถึงตำบลป่าเลา อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ในช่วงเช้า และเดินทางต่อไปอยู่บ้านเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ

ตอนนั้นในพื้นที่บ้านเข็กน้อยมีชุมชนอาศัยอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ชาวม้งที่มาจากหมู่บ้านเล่านะ บ้านเล่าเน้ง และบ้านเล่าลือ จึงไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ต้องอาศัยเช่าพื้นที่จากกลุ่มชาวบ้านบ้านเข็กน้อย จากนั้นไม่นานทางรัฐได้มีการจัดสรรที่ดินทำกินและอยู่อาศัย ให้กับกลุ่มชาวบ้านเฉพาะกลุ่มชาวบ้านจากหมู่บ้านเล่าลือ ซึ่งรัฐจัดให้อยู่เหนือขึ้นไปจากบ้านเข็กน้อย ครอบครัวละ 15 ไร่ แต่ยังไม่ได้จัดสรรหาที่ทำกินให้กับชาวม้งบ้านเล่านะ และบ้านเล่าเน้ง ที่ยังคงต้องเช่าที่ดินทำกิน และตกค้างอยู่ที่บ้านเข็กน้อยในปัจจุบัน

“…เหตุที่ต้องออกมาเรียกร้องขอที่ดินทำกินและอยู่อาศัย เพราะรู้สึกว่าหมู่บ้านเล่านะ และหมู่บ้านเล่าเน้ง เหมือนเป็นหมู่บ้านที่สูญหาย ทั้งที่ในอดีตก็มีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านอย่างชัดเจน มีการจัดตั้งชมรมกองร้อยอาสาสมัครชาวเขา หมู่บ้านเล่านะ และหมู่บ้านเล่าเน้ง แต่ในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางในการจัดสรรที่ดินทำกิน รวมถึงที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ทดแทนที่ดินที่กองทัพภาคที่ 3 ได้สัญญาว่าจะจัดสรรให้กับกลุ่มชาวม้งบ้านเล่านะและบ้านเล่าเน้ง อย่างเป็นรูปธรรม…” นายจงเย่ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน ร.ต.ต.สุรศิษฏ์ เหลืองอรัญนภา ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กล่าวว่า ขณะนี้ ทางคณะอนุกรรมการฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา ร่วมกับ ทีมทนายความ จากสภาทนายความจังหวัดเพชรบูรณ์ ในการรวบรวมข้อมูลที่มีทั้งหมด ทั้งหลักฐานเอกสาร และบุคคล พร้อมดูถึงแนวทางต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือทางกฎหมาย กับผู้ร้องเรียนกลุ่มเกษตรกรคนจนจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ประมาณ 1 เดือน จากนั้นก็จะได้นำเข้าคณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารนาหาแนวทางตามกฎหมายต่อไป.