ขวดหรือกระปุกแก้วที่ใช้เป็นภาชนะใส่แยม เครื่องดื่ม อาหาร หรือ เครื่องปรุงอาหาร ฯลฯ มีลักษณะพิเศษคือสามารถกันอากาศเข้าได้สูง… ฝาขวดแบบเกลียวล็อกจึงเปิดได้ยากมาก ๆ

และบางครั้งก็เปิดยากเกินไป ต้องใช้แรงและใช้เวลานาน ขณะที่บางคนท้อถึงกับยกเลิกความตั้งใจที่จะกินมันไปเลย…

นอกจากนั้น บางครั้งเปิดใช้แล้ว แต่ยังไม่หมด จึงปิดฝาเก็บไว้ใช้ครั้งต่อไป ทว่า ก็ยังคงเปิดยากอยู่ดี และอาจเปิดยากกว่าการเปิดครั้งแรกด้วยซ้ำ เพราะตอนปิดอาจกังวลว่ามันจะเสียได้ จึงปิดแน่นเกินไป ทำให้การจะเปิดฝาอีกครั้งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

แต่ถ้าคุณรู้เทคนิคนี้!! จากนี้ไปการเปิดฝาขวดจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป และไม่ต้องใช้แรงเยอะแต่อย่างใด แม้แต่เด็กชายหรือเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ ก็สามารถเปิดได้

เทคนิคดังกล่าวถูกเปิดเผยโดย กองจัดการภัยพิบัติของกรมรักษาความปลอดภัย กรมตำรวจนครบาลแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งโพสต์วิธีเปิดฝาขวดได้อย่างง่ายดายผ่านทางแอคเคานท์ X เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายดายขึ้น และสามารถจดจำไปใช้ได้ในยามที่มีภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ

วิธีการเปิดฝาขวดแบบง่าย ๆ

อุปกรณ์สำคัญที่ต้องมีเพียงหนึ่งเดียวคือ “ช้อนยาว”

ให้จับช้อนในแนวตั้ง จากนั้นใช้ขอบช้อนเคาะที่ขอบฝาแล้วหมุนขวดไปเรื่อย ๆ เพื่อให้สามารถเคาะขอบฝาได้จนครบรอบวงกลม (ตามที่แสดงในภาพ) เคาะซ้ำไปเรื่อย ๆ สัก 2-3 รอบวงกลม แต่จริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องเคาะให้เป็น 6 จุดแบบในภาพก็ได้ สามารถเคาะตรงไหนของขอบฝาก็ได้ แค่เคาะไปเรื่อย ๆ ให้ครบรอบวงกลม

การใช้ช้อนแข็ง ๆ ตีหลาย ๆ ครั้ง ขอบของฝาจะบุ๋มเป็นรอยซึ่งเป็นช่องว่างเล็ก ๆ ที่ช่วยทำให้การเปิดฝาเป็นไปอย่างง่ายดาย

จะรู้ได้ยังไงว่าเคาะขอบฝาเพียงพอแล้ว?
เมื่อเคาะครบรอบวงกลม 2-3 รอบ ให้ลองหมุนเปิดดู ถ้ายังแน่นอยู่ ให้เคาะต่อไปอีก 2-3 รอบ จากนั้นเมื่อลองหมุนเปิดดูอีกครั้ง จะพบว่าสามารถเปิดได้อย่างง่ายดายจนไม่น่าเชื่อ

จากนี้ไปเมื่อเปิดใช้แล้วครั้งแรก แยม อาหาร หรือ เครื่องดื่ม ที่ยังเหลืออยู่ และเราจะเก็บไว้รับประทานครั้งต่อ ๆ ไป เราก็สามารถปิดฝาได้แน่นเท่าที่ต้องการเลย เนื่องจากการใช้เทคนิคนี้ ไม่ว่าเราจะปิดฝาแน่นแค่ไหน ก็สามารถเปิดได้อย่างง่ายดายในทุก ๆ ครั้ง

การเผยแพร่เทคนิคนี้ของ กรมตำรวจนครบาลแห่งประเทศญี่ปุ่น สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก มีคอมเมนต์ดี ๆ มากมาย อาทิ

“นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้ยินเรื่องนี้!”
“ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จริงๆ!”
“ฉันไม่รู้ว่ามีเคล็ดลับในการตีขอบฝาแบบนี้ด้วย”

ที่มาและภาพ : grape japan