นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ดต้า เปิดเผยว่า เอ็ดต้าเตรียมยกระดับการกำกับดูแลแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย โดยเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการแข่งขัน รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ ภายใต้พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ.2565 ซึ่ง เอ็ดต้า มีหน้าที่หลักในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลให้ดำเนินงานอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

“แม้ว่าขอบเขตของกฎหมายฉบับนี้จะไม่สามารถบังคับให้ร้านค้าบนแพลตฟอร์มต้องมาจดทะเบียนได้โดยตรง เนื่องจากกฎหมายเน้นการกำกับแพลตฟอร์มมากกว่าร้านค้าบนแพลตฟอร์ม แต่ เอ็ดต้า กำลังพยายามทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการเสริมที่สามารถนำมาใช้ได้จริง เช่น การขอความร่วมมือให้แพลตฟอร์มในการส่งข้อมูลร้านค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์ม รวมถึงการเพิ่มมาตรการในการยืนยันตัวตนของผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ รวมถึง การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์ม ที่ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อป้องกันการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน พร้อมกับการจัดให้มีมาตรการรับมือกับการกระทำผิดกฎหมาย เช่น การนำสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานออกจากแพลตฟอร์ม และการติดตามจับกุมผู้กระทำผิด”

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่านอกจากนี้ จะยังร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการพัฒนาระบบบริการ Cash on Delivery (COD) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการซื้อขายออนไลน์ โดยกำหนดให้ขนส่ง ต้องรักษาเงินไว้ 5 วัน หากผู้บริโภคพบว่า สินค้าที่ได้รับไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ สามารถเรียกคืนเงินได้ ทำให้เงินยังไม่ถึงมือผู้ขายจนกว่าจะมีการยืนยันความพึงพอใจของผู้บริโภค

“ตอนนี้ยังไม่มีผู้เสียหาย แจ้งร้องเรียนเทมู (TEMU) เข้ามา หลังจากมีการจดแจ้งขอเปิดแพลตฟอร์มกับ เอ็ตด้า เมื่อต้นเดือนก.ค.67 ที่ผ่านมา ซึ่ง เอ็ดต้า ต้องการข้อมูลที่เป็นรูปธรรมและได้รับการยืนยันจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงและวางมาตรการเพิ่มเติม ขณะนี้ กำลังเตรียมแนวคิดในการยกระดับการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม โดยนำเสนอต่อคณะกรรมการร่วมภายใต้ พ.ร.ฎ.แพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งจะประชุมครั้งแรกในวันที่ 23 ส.ค.นี้”

โดย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม ให้ เอ็ตด้า สรุปมาตรการที่สามารถนำไปใช้ได้จริงภายใน 7 วัน ซึ่งคาดว่าจะเห็นแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนภายในเดือน ก.ย.67 เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์การแข่งขันในปัจจุบัน