เมื่อวันที่ 22 ส.ค. นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีน้ำท่วมจังหวัดทางภาคเหนือตอนบน ว่า กรมสุขภาพจิตมอบทีมในพื้นที่ดำเนินการใน 4 ส่วน เพื่อดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ ดังนี้ 1. จัดทีมเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิตในสถานการณ์ดังกล่าว ร่วมกับทีม MCATT ในพื้นที่ 2. เฝ้าป้องกันกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีความอ่อนไหวทางด้านจิตใจ กลุ่มผู้ช่วยเหลือ 3. ค้นหา ส่งต่อ เฝ้าระวัง ดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงไม่ให้ขาดยาเด็ดขาด ผู้ป่วยติดสุรา ขาดสุราหรือหยุดดื่ม ให้เตรียมยาป้องกันอาการลงแดง ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ทีมบุคลากรทางการแพทย์ เตรียมความพร้อมในการให้บริการผู้ป่วยผ่านระบบ Tele psychiatry ด้วย พร้อมสำรองเวชภัณฑ์ยาที่จำเป็นเพื่อเตรียมจัดส่งให้ผู้ป่วยที่อาจขาดยา ผู้ป่วยที่ไปตามนัดไม่ได้ขอให้แจ้ง อสม./รพ.สต. ในพื้นที่ โทรฯ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์นํ้าท่วมรุนแรง หลายครอบครัวต้องขนย้ายข้าวของหนีนํ้า มักเกิดความโกลาหลวุ่นวาย เป็นระยะที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก ระยะนี้ประชาชนกำหนดบทบาทของสมาชิกและจัดลำดับความสำคัญเตรียมรับมือ จะช่วยลดความสับสนกระวนกระวายและวิตกกังวลลงได้ สิ่งที่ต้องทำ คือ ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ นึกถึงความปลอดภัยของชีวิตเป็นอันดับแรก เช่น ระวังเรื่องไฟฟ้า หลังจากนั้นค่อยคิดหาทางออกเป็นขั้นเป็นตอนจากง่ายไปยาก ตลอดจนลดการสื่อสารหลายช่องทาง ติดตามข่าวสารประกาศเตือนภัยจากแหล่งข่าวสำคัญของท้องถิ่นหรือของทางราชการเป็นหลัก เพื่อลดการตื่นตระหนก และความวิตกกังวล สำหรับผู้มีโรคประจำตัว ก็ขอให้จัดเตรียมยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำไว้ใกล้ตัวเพื่อให้หยิบง่ายหากเกิดเหตุฉุกเฉิน

ทั้นี้ ทุกคนสามารถช่วยดูแลจิตใจกันได้ ด้วยหลัก 3ส. “สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง” สอดส่องมองหา โดยการสังเกตพฤติกรรมของคนรอบข้างและคนใกล้ชิด เช่น เหม่อลอย ปลีกตัวจากผู้อื่น ไม่สดใสร่าเริงเหมือนเมื่อก่อน จากนั้น ใส่ใจรับฟัง ให้เขาระบายความในใจออกมา อาจสื่อสารด้วยภาษากาย การสัมผัส โอบกอบ หากพฤติกรรมยังไม่ดีขึ้น ก็ควรส่งต่อเชื่อมโยงไปยังผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ และรับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธี ที่สำคัญอย่าใช้สุรายาเสพติดมาเป็นทางออกของการจัดการความเครียด กรณีเครียดจากการได้เห็นสภาพความเสียหาย ทำให้เกิดความเครียดสูง จึงควรตั้งสติ คิดวางแผนแก้ไขปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน เรียงลำดับก่อนและหลัง เริ่มจากง่ายไปหายาก อย่าหมดกำลังใจ มีสติ ยิ้มสู้กับปัญหา

ส่วนกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ขอให้เตรียมความพร้อมร่วมกันในครอบครัว ติดตามประกาศเตือนภัย กำหนดหน้าที่ของคนในครอบครัว และวางแผนการขนย้ายสิ่งของจากบ้านเรือนไว้ให้พร้อม ตั้งสติ อย่าตกใจ คิดถึงความปลอดภัยของชีวิตและคนในครอบครัวไว้ก่อน และทำตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะช่วยลดความสับสน ตื่นตระหนกลงได้ ยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น และหาทางแก้ไขปัญหาทีละขั้นตอนตามความจำเป็น.