สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงลูซากา ประเทศแซมเบีย เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ว่านายอีไลจาห์ มูชิมา รมว.สาธารณสุขแซมเบีย ประกาศว่า ตัวอย่างข้าวโพด 25 ตัวอย่างจากโรงสี มีสารอะฟลาท็อกซินถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการค้นพบที่น่าวิตกกังวล เนื่องจากข้าวโพดเป็นอาหารหลักของชาวแซมเบีย และการปนเปื้อนจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายประการ

ขณะที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ให้ข้อมูลว่า ผลการศึกษาพบว่า สารอะฟลาท็อกซินสามารถก่อให้เกิดมะเร็งตับในมนุษย์ได้

ทางการแซมเบียเริ่มสอบสวนแหล่งผลิตข้าวโพดของประเทศ หลังไดมอนด์ ทีวี หนึ่งในสถานีโทรทัศน์ของแซมเบีย รายงานว่า สุนัขหลายสิบตัวตายจากพิษอะฟลาท็อกซิน โดยสันนิษฐานว่า พวกมันอาจตายจากการกินอาหาร ที่มีส่วนประกอบเป็นข้าวโพดปนเปื้อน

เจ้าหน้าที่ทำการเก็บตัวอย่างจากโรงสี 10 แห่ง ซึ่งผลิตอาหารสุนัขจากข้าวโพด และแปรรูปเมล็ดพืชเพื่อผลิตแป้งข้าวโพดสำหรับมนุษย์ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตของมนุษย์ จากการรับประทานข้าวโพดที่ปนเปื้อน แต่แหล่งข่าวจากสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติแซมเบียเปิดเผยว่า พวกเขากำลังตรวจสอบถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนทั่วไปด้วย

มูชิมาประกาศว่า แป้งข้าวโพดลอตที่ได้รับผลกระทบถูกเรียกคืนแล้ว และมีกาารออกประกาศยึดสินค้าจากบริษัทต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ หลังจากนั้นไม่นาน ไดมอนด์ ทีวี รายงานว่า มีเพียงบริษัทแปรรูปอาหารสุนัข ฟาร์มฟีด เท่านั้น ซึ่งประกาศเรียกคืนผลิตภัณฑ์ของตน

รมว.สาธารณสุขแซมเบียอธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบจากภัยแล้ง เป็นปัจจัยทำให้สถานการณ์สารพิษรุนแรงยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับพื้นที่ทางตอนใต้ของแอฟริกาส่วนใหญ่ ที่ประสบภัยแล้งรุนแรงในช่วงต้นปี ส่งผลให้เกษตรกรประมาณ 1 ล้านคน ต้องเผชิญกับปัญหาพืชผลเสียหาย และปริมาณข้าวโพดที่ตกต่ำอย่างวิกฤติ

ขณะที่ชาวแซมเบียจำนวนไม่น้อย ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และเรียกร้องผ่านโซเชียลมีเดีย ว่าพวกเขาต้องการให้ทางการเปิดเผยยี่ห้อแป้งข้าวโพดที่ถูกเรียกคืน “เรามีสิทธิรู้ว่า เรากำลังเอาอะไรให้คนในครอบครัวกิน”

ด้านสมาคมโรงสี ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทโรงสีทั่วแซมเบีย ยืนยันว่า พวกเขากำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้แน่ใจว่า ปัญหาทั้งหมดจะได้รับการแก้ไข และประชาชนจะปลอดภัย “เรายังคงสืบสวนหาแหล่งที่มาของเมล็ดพืชที่ปนเปื้อน และเพิ่มการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ในตลาด” นายแอนดรูว์ ชินทาลา ประธานสมาคมโรงสี กล่าว “ก่อนหน้านี้เราไม่ได้ทำการทดสอบสารอะฟลาท็อกซินมากนัก นี่เป็นครั้งแรกที่เราพบสารมากเช่นนี้ และเรายังคงสืบสวนหาสาเหตุอยู่”

ทั้งนี้ มูชิมาได้ประกาศขยายการเฝ้าระวังไปทั่วประเทศ และเพิ่มความพยายามในการสุ่มตัวอย่าง.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES