เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก ร.ต.ต.สุรศิษฏ์ เหลืองอรัญนภา ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่า ที่ผ่านมา นายกสภาทนายความ โดยนายวิเชียร ชุบไธสง ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกรคนจนจังหวัดเพชรบูรณ์ ว่ากลุ่มชาวบ้าน ต.เข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ 120 ครอบครัว ได้รับความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินและอยู่อาศัย จึงแต่งตั้งและมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ เป็นคณะทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย

ร.ต.ต.สุรศิษฏ์ กล่าวว่า ตนพร้อมคณะจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลในเบื้องต้น พบว่า กลุ่มชาวบ้านชาติพันธุ์ม้ง เคยมีที่อยู่อาศัยในพื้นที่หมู่บ้านเล่านะ และบ้านเล่าเน้ง ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2504 แต่เมื่อครั้งสงครามคอมมิวนิสต์ ระหว่างปี พ.ศ. 2510-2525 พบข้อมูลว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2518 ทางกองทัพภาคที่ 3 ได้มีการอพยพชาวบ้านเล่านะ บ้านเล่าเน้ง และบ้านเล่าลือ ให้ย้ายถิ่นฐานชุมชนกันตามยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ให้มาอยู่รวมกันที่ ต.เข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ โดยมีคำมั่นสัญญาว่าจะจัดสรรที่ดินทำกินให้เมื่อการต่อสู้สิ้นสุดลง ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้น พบว่า กลุ่มชาวบ้าน บ้านเล่านะ บ้านเล่าเน้ง เป็นกลุ่มชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่ที่ถูกอพยพออกมา แต่ในขณะนี้ ทางคณะอนุกรรมการฯ จะต้องรวบรวมข้อมูล พยานหลักฐานต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือทางกฎหมายต่อไป

นายวิโรจน์ แซ่จ๊ะ อายุ 56 ปี ประธานกลุ่มเกษตรกรคนจนจังหวัดเพชรบูรณ์ ตัวแทนชาวบ้าน บ้านเล่านะ บ้านเล่าเน้ง เปิดเผยว่า พวกตน พร้อมชาวบ้านจากหมู่บ้านเล่านะ และบ้านเล่าเน้ง ได้รับความเดือดร้อนจากการที่รัฐบาลได้อพยพออกมาจากกลุ่มหมู่บ้านเล่านะ บ้านเล่าเน้ง และบ้านเล่าลือ ในช่วงปี พ.ศ. 2518 ซึ่งขณะนั้นมีสถานกาารณ์ด้านการสู้รบระหว่างรัฐบาลไทย กับ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ได้เข้าแทรกซึมมาจากชายแดนด้านทิศเหนือ หลังจากนั้น ได้ขยายเขตงานเข้ามายังพื้นที่อำเภอเขาค้อ เพื่อเตรียมสถาปนาพื้นที่เขาค้อ ให้เป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมินิวต์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มเชิงเขาค้อ เขาปู่ เขาย่า ที่เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ทั้งเป็นชัยภูมิที่ดี ซึ่งในช่วงเวลานั้นทางทหารจากกองทัพภาคที่ 3 ได้ให้ชาวบ้านบ้านเล่านะ บ้านเล่าเน้ง และบ้านเล่าลือ กว่า 500 ครอบครัว ขอให้ลงมาอยู่ที่บริเวณหมู่บ้านเข็กน้อย ห่างจากหมู่บ้านเดิมประมาณ 35 กิโลเมตร

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า โดยขณะนั้น ทางทหารจากกองทัพภาคที่ 3 ได้ให้คำมั่นว่า ให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกันกับชาวบ้านของหมู่บ้านเข็กน้อยไปก่อน แล้วจะจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ใหม่ เนื่องจากเกรงว่าหากอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านเดิมจะไม่ปลอดภัย กระทั่งต่อมา กลุ่มชาวบ้านจากหมู่บ้านเล่าลือ ทหารจากกองทัพภาคที่ 3 ได้จัดสรรที่ดินทำกินให้ โดยอยู่เหนือขึ้นไปจากบ้านเข็กน้อย แต่กลุ่มชาวบ้านจากบ้านเล่านะ และบ้านเล่าเน้ง กลับไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ ทำให้ชาวบ้านเล่านะ บ้านเล่าเน้ง ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันกับชาวบ้านเข็กน้อย โดยต้องเช่าที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย เหตุเพราะกลุ่มชาวบ้านเล่านะ และบ้านเล่าเน้ง ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองที่หมู่บ้านเข็กน้อย

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางกลุ่มเกษตรกรคนจนจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐมาโดยตลอด ตั้งแต่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ศูนย์ดำรงค์ธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ 2 พฤษภาคม 2566 ซึ่งที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้มีการพยายามแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มชาวบ้าน แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ จนทำให้กลุ่มชาวบ้าน ซึ่งตนเป็นประธาน ได้ตัดสินใจมายื่นหนังสือต่อ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อขอให้ช่วยเหลือในด้านกฎหมาย เพราะกลุ่มชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินและอยู่อาศัยมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี จึงมีความหวังว่าทาง สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะให้การช่วยเหลือกลุ่มพวกตน