โดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์ได้ปล่อยมีเทนออกสู่ชั้นบรรยากาศ มากกว่า 3 พันล้านตัน หากลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้ภายในหนึ่งหรือสองทศวรรษจะช่วยลดอุณหภูมิโลกได้ถึง 0.5 องศาเซลเซียส ดังนั้น หากสามารถยับยั้งการปล่อยมีเทนทั้งหมดจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ได้ ปริมาณความเข้มข้นของก๊าซดังกล่าวจะตํ่าลงได้เทียบเท่ากับโลกในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม หากโลกยังคงร้อนขึ้นเรื่อย ๆ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เรายังต้องแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซมีเทนจากธรรมชาติที่สูงขึ้น ทั้งจากพื้นที่ชุ่มนํ้าเขตในร้อนที่อุ่นขึ้น และการละลายของชั้นดินเยือกแข็งในอาร์กติก การปล่อยก๊าซมีเทนตามธรรมชาติระดับสูงสุดมาจากพื้นที่ชุ่มนํ้าและป่าที่ถูกนํ้าท่วมตามฤดูกาลในเขตร้อน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น ชื้น และมีออกซิเจนตํ่า เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ปล่อยก๊าซมีเทน
แอตแลนติกร้อนจัด
“ร็อบ แจ็คสัน” นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เมื่อเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว เขาได้เดินทางไปที่เขตอนุรักษ์ “มามิราอูอา” (Mamiraua) ในป่าแอมะซอนของบราซิล ซึ่งเป็นช่วงที่ปรากฏการณ์เอลนีโญ กําลังทวีความรุนแรงขึ้น และมหาสมุทรแอตแลนติกเขตร้อนก็ร้อนจัด โดยอุณหภูมิของมหาสมุทรนอกชายฝั่งฟลอริดานั้นเกือบแตะ 40 องศาเซลเซียส หรือ 104 องศาฟาเรนไฮต์ ถือว่าใกล้เคียงกับอุณหภูมิจากอ่างนํ้าร้อนเดือด ๆ อุณหภูมิที่แนะนำสำหรับการทำให้ปลาแซลมอนสุก และอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรสูงสุดที่วัดได้
“นํ้าทะเลที่อุ่นในมหาสมุทรแอตแลนติกเขตร้อนมักทำให้เกิดภัยแล้งในแอมะซอน “อายัน ฟลีชมันน์” เจ้าบ้านชาวบราซิล ซึ่งเป็นผู้อำนวยการด้านการวิจัยสภาพอากาศที่นั่น เขาบอกกับผมว่าภัยแล้งอาจกำลังใกล้เข้ามาแล้ว ระดับนํ้าที่สถานีตรวจวัดในเมืองตาบาทิงกา ประเทศบราซิล ซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตรทางตอนเหนือของแม่นํ้านั้นอยู่ในระดับตํ่าที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดของป่าแอมะซอนเกิดขึ้นในปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งนํ้าทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติกมีอุณหภูมิสูงขึ้น” แจ็คสัน กล่าว
ต้นไม้ตายหลายพันล้านต้น
พื้นที่ทางทะเลที่สำคัญคือแถบที่ทอดยาวจากเส้นศูนย์สูตร ไปจนถึงคิวบาและฟลอริดาทางตอนใต้ ภัยแล้งรุนแรงที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2015–2016 ส่งผลให้อุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ต้นไม้ตายไปหลายพันล้านต้นจากไฟป่าที่โหมกระหนํ่า และเปลี่ยนป่าแอมะซอนจากที่เคยเปรียบเสมือนฟองนํ้าดูดซับคาร์บอนฯ ของทั่วโลกให้กลายเป็นแหล่งคาร์บอนขนาดใหญ่
คำกล่าวเตือนของฟลีชมันน์นั้นมีความเฉียบแหลมและแม่นยำเป็นอย่างมาก เพราะในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่าน เพียงสองเดือนหลังจากที่แจ็คสันกลับ พื้นที่ดังกล่าวก็ได้เผชิญกับภัยแล้งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ระดับนํ้าในระบบแอมะซอนตํ่ากว่าครั้งใด ๆ นับตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำบันทึกเมื่อกว่าศตวรรษก่อน
“วิกฤติอันเลวร้ายที่เกิดขึ้น ทำให้เราได้เห็นการปะทะกันของ 2 ปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์แรกคือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่าเอลนีโญ และอีกปรากฏการณ์หนึ่งคือปรากฏการณ์ที่มนุษย์เป็นผู้ก่อให้เกิด นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก” “มารินา ซิลวา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศบราซิล กล่าว
อุณหภูมิรอบ ๆ มามิราอูอา สูงกว่า 40 องศาเซลเซียสเป็นเวลาหลายวัน ประกอบกับการที่ไม่มีฝนและเมฆน้อย จึงทำให้ผืนนํ้าของแอมะซอนได้รับแสงแดดโดยตรง ส่งผลต่อไปยังอุณหภูมิของนํ้าที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 40 องศาเซลเซียสที่ระดับความลึก 3-6 ฟุตใต้นํ้า ในทะเลสาบเทเฟ ซึ่งเป็นประตูสู่แม่นํ้าแอมะซอนตะวันตก
“ไม่มีใครเคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ 4 โมงเย็นและอากาศร้อนมาก ผมเห็นซากปลาโลมาแม่นํ้ากว่า 70 ตัวอยู่ที่ริมทะเลสาบ และยังเห็นอีกส่วนหนึ่งว่ายนํ้าเป็นวงกลม เพราะพวกมันกำลังพยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอด มันแย่มาก ผมไม่รู้ว่าควรต้องทำอย่างไร หรือจะช่วยพวกมันได้อย่างไร ไม่เพียงแต่ที่อากาศร้อนและแห้งแล้งเท่านั้น แต่ยังมีไฟป่าลุกไหม้มากกว่า 7,000 จุดโหมกระหนํ่าทั่วรัฐอามาโซนัส” “อายัน ฟลีชมันน์” ผู้อำนวยการด้านการวิจัยสภาพอากาศ ประเทศบราซิล กล่าว
อย่างไรก็ตาม แอ่งนํ้าเขตร้อน เช่น แอ่งแอมะซอนและคองโก ไม่ใช่พื้นที่ธรรมชาติเพียงแห่งเดียวที่เราต้องกังวลเกี่ยวกับการปล่อย
ก๊าซมีเทน ทุ่งทุนดราและป่าพรุในอาร์กติกก็มีความเสี่ยงเช่นกัน “พีต” (แหล่งสะสมของซากพืชตกค้าง ที่แปรสภาพไปสู่การเน่าสลายตัว) ที่อุดมไปด้วยสารอินทรีย์ สามารถก่อตัวในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนตํ่าและมีนํ้าขัง ซึ่งการย่อยสลายของจุลินทรีย์ไม่สามารถรักษาการเจริญเติบโตของพืชใหม่ได้ ทั้งยังมีงานวิจัยของ “กุสตาฟ ฮูเกลิอุส” นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน ที่ได้ประมาณการว่า ป่าพรุทางตอนเหนือ ได้สะสมคาร์บอนไว้อย่างน้อย 400,000 ล้านตัน นับตั้งแต่ยุคนํ้าแข็งครั้งสุดท้าย ซึ่งเทียบเท่ากับเกือบครึ่งหนึ่งของคาร์บอนทั้งหมดที่ชั้นบรรยากาศของเรามีอยู่ในปัจจุบัน
หากชั้นดินเยือกแข็งละลาย ดินในอาร์กติกและเขตเหนือมีความอุ่นขึ้น คาร์บอนในพีตอาจสามารถเข้าถึงชั้นบรรยากาศในรูปแบบของคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านไฟป่าพีต หรือผ่านการสลายตัวของจุลินทรีย์ หรืออีกทางหนึ่ง หากพื้นที่ป่าพรุที่ละลายกลายเป็นหนองนํ้า จุลินทรีย์อาจปล่อยคาร์บอนในรูปของก๊าซมีเทนออกมาจำนวนมาก ซึ่งทั้งสองกรณีถือว่าเป็นเรื่องเลวร้ายต่อสภาพอากาศของโลกอย่างแน่นอน ไม่แน่ว่า ณ ตอนนี้ มันอาจกำลังจะเริ่มต้นขึ้นอย่างช้า ๆ หรืออาจเริ่มมาได้สักระยะแล้ว และในที่สุดวันหนึ่งมันก็จะเดินทางไปถึงจุดไคลแม็กซ์
ยังไม่สายเปลี่ยนพฤติกรรมง่าย ๆ
เมื่อมองย้อนกลับมามองสิ่งใกล้ตัวที่เราสามารถทำได้ง่าย ๆ การเปลี่ยนอุปกรณ์ในการทำพลังงานต่าง ๆ ภายในบ้าน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการลดการปล่อยก๊าซมีเทน อาทิ การเปลี่ยนมาใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือมลพิษภายในอาคาร อย่างการใช้เตาแม่เหล็กความร้อน ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเตาแก๊ส 2-3 เท่า เนื่องจาก “เตาแก๊ส” เป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน จากการศึกษาเกี่ยวกับเตาแก๊สในสหรัฐอเมริกา พบว่า สามในสี่ของการปล่อยก๊าซมีเทนทั้งหมดถูกปล่อยออกมาในขณะที่เตาปิดอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากท่อและข้อต่อที่รั่ว อีกทั้งปริมาณก๊าซมีเทนที่ทำลายสภาพอากาศนั้น ยังเท่ากับปริมาณการปล่อยมลพิษของรถยนต์ครึ่งล้านคันต่อปี
นอกจากเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องมือต่าง ๆ ในการทำพลังงานแล้ว การเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว “วัว” หนึ่งตัว จะเรอก๊าซมีเทนออกมาในปริมาณเท่ากับอ่างอาบนํ้า 1 อ่างต่อวัน หรือประมาณ 100 กิโลกรัมต่อปี ยิ่งไปกว่านั้น มูลของวัวจากทั่วโลกซึ่งมีจำนวนมากกว่าพันล้านตัว ยังปล่อยก๊าซมีเทนออกมามากกว่าอุตสาหกรรมนํ้ามันและก๊าซของโลก ฉะนั้นการบริโภคเนื้อวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวให้น้อยลง จึงนับว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ชาญฉลาดในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลดก๊าซมีเทนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม.
อ้างอิงจาก : The Guardian