เรียกได้ว่านาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “อุดม สิทธิวิรัชธรรม” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นับว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่มีชื่อเสียง และถูกนำชื่อไปค้นหาในแพลตฟอร์ม Google ล้นหลาม ประชาชนรวมถึงชาวเน็ตต่างพูดถึงเป็นวงกว้าง ในเรื่องของความเก่งและความสามารถ

โดยวันนี้ทีมข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “อุดม สิทธิวิรัชธรรม” กันให้มากขึ้น ว่าเส้นทางชีวิตเริ่มต้นอย่างไรก่อนจะเป็นผู้คลี่คลายคดีเด่นเยอะที่สุดในยุคนี้

“อุดม สิทธิวิรัชธรรม” เกิดวันที่ 22 พฤศจิกายน 2497 ปัจจุบันอายุ 70 ปี จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2517, เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 28 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา 2518 และนิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2525

ตำแหน่งและหน้าที่สำคัญ
– นายทหารพระธรรมนูญ กองทัพเรือ (25 มีนาคม 2519-30 กันยายน 2524)
– ผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาประจำกระทรวงช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดทุ่งสง และผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดแม่สอด ศาลจังหวัดพิษณุโลก และศาลจังหวัดนครสวรรค์ (1 ตุลาคม 2524-31 ตุลาคม 2534)
– ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวงช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครสวรรค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหลังสวน ศาลจังหวัดอุทัยธานี และศาลจังหวัดกำแพงเพชร (1 พฤศจิกายน 2534-10 เมษายน 2540)
– ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา (11 เมษายน 2540-2 มิถุนายน 2542)
– ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 6 (3 มิถุนายน 2542-1 ตุลาคม 2549)
– ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ภาค 3 (2 ตุลาคม 2549-30 กันยายน 2550)
– ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 5 และประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลอุทธรณ์ภาค 3 (1 ตุลาคม 2550-30 กันยายน 2552)
– รองประธานศาลอุทธรณ์ (1 ตุลาคม 2552-30 กันยายน 2554)
– อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 และอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ (1 ตุลาคม 2554-30 กันยายน 2556)
– ผู้พิพากษาศาลฎีกา (1 ตุลาคม 2556-30 กันยายน 2557)
– ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 (1 ตุลาคม 2557-30 กันยายน 2559) 
– ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา (1 ตุลาคม 2559-30 กันยายน 2561)
– ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา (1 ตุลาคม 2561-25 กุมภาพันธ์ 2563)
– คดี พล.อ.ประยุทธ์ นั่งนายกฯ 8 ปี มติ 6 : 3 (30 กันยายน 2565)
– คดียุบพรรคก้าวไกล มติ 9 : 0 (7 สิงหาคม 2567)
– คดีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน พ้นเก้าอี้นายกฯ มติ 5 : 4 (14 สิงหาคม 2567)

อย่างไรก็ตามยังมีรายงานจากสื่อมวลชนเมื่อปี 2563 อุดม สิทธิวิรัชธรรม กรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2563 ขณะนั้นมีทรัพย์สินมากถึง 8,656,369 บาท แบ่งเป็นเงินฝาก 2,502,796 บาท และเงินลงทุน 2,099,707 บาท สะสมที่ดิน 2.5 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 1 ล้านบาท รถยนต์ 500,000 บาท สิทธิและสัมปทาน 833,816 บาท ทรัพย์สินอื่น 120,000 บาท มีหนี้สิน 308,413 บาท

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับ
– มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)

ขอบคุณข้อมูล : วิทยาลัยศาลรัฐธรรมนูญ