ความเคลื่อนไหวการเมืองเดือด เมื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แตก แบ่งขั้วชัดเจนระหว่างกลุ่มบ้านป่ารอยต่อ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. และกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรค จากการที่ พล.อ.ประวิตรไม่ส่งชื่อ ร.อ.ธรรมนัสเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล “อิ๊งค์ 1” ทำให้เจ้าตัวประกาศอิสรภาพแบบต่างคนต่างอยู่ และรวมสรรพกำลังในลักษณะ “เพื่อต่อรองเก้าอี้ในนามกลุ่ม” ทันที

แม้จะมีข่าวว่า ในคืนวันที่ 20 ส.ค. กลุ่มบ้านป่ารอยต่อสามารถดึง สส.เพชรบูรณ์ กลับมาได้ 6 คน รวมเป็น 20 คน แต่สุดท้าย นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร พรรค พปชร. กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันจำนวน สส.พปชร.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส (รวม ร.อ.ธรรมนัส) 26 คน และมีเสียงพรรคเล็กสนับสนุนอีก 5 คน

และมีรายงานข่าวว่า คนสนิทของ ร.อ.ธรรมนัส ได้ไปหารือกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ขอเสียงสนับสนุน แลกเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ 1 เก้าอี้ ช่วยว่าการ 1 เก้าอี้ ทำให้ทั้งนายเฉลิมชัยและนายเดชอิศม์ส่งชื่อตัวเองเข้าเป็นโควตารัฐมนตรีเรียบร้อย แต่ทางแกนนำพรรคประชาธิปัตย์อ้างว่า นายเดชอิศม์หรือนายกชาย ได้ขอให้มีเทียบเชิญจากเพื่อไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อชี้แจงสังคมและผู้สนับสนุนพรรคได้ เดิมพรรคประชาธิปัตย์จะขอตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ รมช.มหาดไทย แต่เมื่อมีการเกลี่ยเก้าอี้รัฐมนตรีใหม่ อาจไม่ได้ตามที่ต้องการ อีกทั้งถ้าจะไปร่วมต้องเป็นมติพรรค

ส่วนโควตารัฐมนตรีในส่วนกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส เพื่อไม่ให้มีข้อครหาเรื่องคุณสมบัติ เจ้าตัวได้ส่งชื่อ นายอัครา พรหมเผ่า น้องชาย เป็นตัวแทน และส่งชื่อนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา รมช.เกษตรและสหกรณ์ รวมถึงมีชื่อนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หัวหน้าพรรคกล้าธรรม

ความเคลื่อนไหวแบบ “ไปต่อไม่รอแล้วนะ เพราะต่างคนต่างอยู่” ของ ร.อ.ธรรมนัส ทำให้บิ๊กป้อมดูจะยอมถอย และพรรค พปชร. ออกแถลงการณ์ว่า พรรค พปชร.มีมติเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และวันที่ 20 ส.ค. 2567 หัวหน้าพรรค พปชร.ได้ส่งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรค จำนวน 4 คนไปให้นายกฯ ผ่าน นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งและบุคคลใดๆ

พร้อมยืนยันว่า ปัจจุบันพรรค พปชร.ยังคงมี สส. 40 คน ที่มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อสนับสนุน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในการบริหารราชการแผ่นดิน …จากแถลงการณ์ เท่ากับพรรค พปชร.ได้ส่งรายชื่อรัฐมนตรีคือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็น รมช.สาธารณสุข (แต่หากเพื่อไทยรับข้อเสนอของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ที่เอาพรรคประชาธิปัตย์มา 2 เก้าอี้ จะทำให้นายสันติและ พล.ต.อ.พัชรวาท หลุดจากโควตารัฐมนตรี )

การเสนอชื่อต้องเร่งดำเนินการเพราะ “เสี่ยอ้วน ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ บีบมาแล้ว ว่าให้บิ๊กป้อมและ ร.อ.ธรรมนัสไปคุยกันเองว่ายังจะเป็นพรรคเดียวกันหรือไม่ ทำงานร่วมกันอย่าแทงข้างหลังกัน และถ้าส่งชื่อ ครม.มาสองชุด อาจไม่ได้ทั้งสองชุดหรือชุดใดชุดหนึ่ง

จากการที่รัฐบาลอิ๊งค์ 1 เคร่งคุณสมบัติรัฐมนตรี เพื่อป้องกันเรื่องร้องเรียนว่า นายกฯ แต่งตั้งบุคคลขาดคุณสมบัติและนายกฯ ต้องถูกถอดถอน ก็มี “นักร้อง”จ้องสอยว่าที่รัฐมนตรี นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย และนายไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กรณีถือครองที่ดินที่เขากระโดง ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์

ทนายอั๋น ระบุว่า มีคำพิพากษาของศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นที่สุด และคำพิพากษาของศาลปกครองว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่า บุคคลทั้ง 2 พักอาศัยในที่ดินดังกล่าวหรือไม่ ใช้อำนาจอะไรดำเนินการให้เป็นที่สาธารณะมีกฎระเบียบอะไรรองรับหรือไม่ หากอยู่ในที่ดินดังกล่าวถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติ หรือฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ อย่างไร

นายสมคิด หอมเนตร ประธานเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น ยื่นหนังสือขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบการยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม โดยเห็นว่า เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินกรณีดำรงตำแหน่ง รมช.คมนาคม มีเงินติดบัญชี 6,819 บาท และคาดว่า หากตรวจสอบย้อนหลังตั้งแต่ปี 2562 ที่เป็น สส.นครพนม อาจไม่ได้ยื่นรายการทรัพย์สินกิจการโรงแรมที่ จ.นครพนม และรายการทรัพย์สินที่ดิน อีกทั้งแม้นางมนพรแจ้งจดทะเบียนหย่ากับสามี กลับใช้นามสกุลสามีโดยเปิดเผย แม้หย่าแล้วก็ถือว่าเป็นบุคคลเดียวกัน และยังอยู่บ้านเดียวกัน นายสมคิดยังบอกว่า จะยื่นตรวจสอบจริยธรรมนักการเมืองอีกประมาณ 2-3 คน

ส่วนความเคลื่อนไหวการเมืองอื่นๆ ที่น่าสนใจ คณะกรรมการวินัยและจริยธรรม ของพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ได้ประชุมและมีมติขับ นางสุภาพร สลับศรี สส.ยโสธร พรรค ทสท. พ้นพรรค เนื่องจากกระทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซ้ำซากหลายครั้ง ไม่เคารพและปฏิบัติตามอุดมการณ์ของพรรค มีมารยาทในการเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน นางสุภาพรลงมติสวนพรรคร่วมฝ่ายค้านโดยตลอด ไปปรากฏตัวร่วมงานกับพรรคอื่นอย่างเปิดเผย พรรคการเมืองบางพรรคพยายามใช้เงินและตำแหน่งมาหลอกล่อ เพื่อดึงตัว สส.ไปสนับสนุน
จากนี้ นางสุภาพรต้องหาพรรคสังกัดใหม่ ซึ่งคาดว่า มีพรรคที่เตรียมต้อนรับแล้ว

ในการประชุมสภา นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ…. ในวาระ 2 และ 3 โดยมีประเด็นสำคัญเช่น กำหนดเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการทำประชามติเป็นวันเดียวกันกับการเลือกตั้ง สส. เป็นการทั่วไป หรือการเลือกตั้งท้องถิ่นเนื่องจากครบวาระ ต้องไม่เร็วกว่า 60 วัน และไม่ช้ากว่า 150 วันนับจากวันที่รับแจ้งจากประธานรัฐสภา, ประชาชน 5 หมื่นชื่อ จะยื่นเรื่องต่อ ครม.ให้พิจารณาทำประชามติ สามารถทำผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้

และร่างมาตรา 6 แก้ไขมาตรา 13 ว่าด้วยเกณฑ์ออกเสียงที่เป็นข้อยุติ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับเดิม กำหนดให้ใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น คือ ผู้มาออกเสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ กมธ.เสียงข้างมากแก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากเพียงชั้นเดียว คือ เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง กมธ.ได้เพิ่มหลักเกณฑ์คือ ต้องเป็นคะแนนที่สูงกว่าคะแนนที่ไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ทำประชามตินั้นด้วย ซึ่งนายวุฒิสาร ชี้แจงว่า การออกมาทำประชามติถือเป็นหน้าที่ ต้องมีช่องให้งดออกเสียงเพื่อเป็นทางออกให้กับผู้มาใช้สิทธิออกเสียง

น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การเมืองไทยไร้เสถียรภาพ บริหารประเทศไม่ต่อเนื่อง ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นวิกฤติที่มีต้นตอจากรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจะผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ให้เป็นจริงใน 4 ปี

ภายหลังจากที่ประชุมอภิปรายในวาระ 2 เรียงลำดับมาตราแล้วเสร็จ ได้ลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขทั้งฉบับตามที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอ ด้วยมติเอกฉันท์ 409 เสียง จากนั้นจะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาในลำดับต่อไป ทำให้วาระสำคัญของรัฐบาลอีกอย่างหนึ่งที่ต้องจับตาคือ การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งน่าสนใจกระบวนการตั้งว่า “พรรคไหนแทรกแซงได้หรือไม่” และจะมีความเห็นอย่างไรเรื่องประมวลจริยธรรมที่รุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากเก้าอี้.

“ทีมข่าวการเมือง”